กำลังเดินหน้าสู่ดวงดาว ก้าวสู่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท แกร็บ (Grab) แอปพลิเคชันเรียกรถ ส่งสินค้า-อาหาร เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2563 ล่าสุด ขาดทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 24,000 ล้านบาท) ส่วนปีนี้คาดว่าจะขาดทุนลดลงเหลือ 600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท)
ปัจจุบันแกร็บ (Grab) บริษัทสิงคโปร์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยคนมาเลเซียให้บริการอยู่ใน 8 ประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ครอบคลุมมากกว่า 500 เมือง
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงที่คนไทยต้องฉลองสงกรานต์ใต้กรอบวิถีใหม่ เพราะไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอีกรอบ แกร็บได้เปิดเผยแผนเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคาดหมายว่าจะเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดของธุรกิจจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
แกร็บซึ่งจะใช้ชื่อหลักทรัพย์ว่า “GRAB” มีแผนจะเข้ากระจายหุ้นในตลาดแนสแดก (Nasdaq) ซึ่งเป็นดัชนีสำหรับหุ้นเทคโนโลยีในอีกไม่กี่เดือน โดยการเข้าตลาดฯในครั้งนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับแกร็บมากขึ้นไปอีก จากมูลค่าบริษัท (ปี 2563) ที่ 12,500 ล้านเหรียญ (ราว 370,000 ล้านบาท) เติบโตฝ่ากระแสโควิด เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2562
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว CNBC รายงานว่า จากหนังสือชี้ชวนที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แกร็บยังมีผลประกอบการขาดทุน โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีตัวเลขขาดทุน (ก่อนหักภาษี ค่าเสื่อม) อยู่ที่ 800 ล้านเหรียญ ส่วนปีนี้คาดว่าจะขาดทุนอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ
เว็บไซต์ VOAThai รายงานอ้างสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แกร็บ โฮลดิงส์ (Grab Holdings) ได้บรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการกับบริษัท Altimeter Growth Corp ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการระดมทุนไปใช้ในการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisi tion Companies-SPACs) และเตรียม ตัวเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ
...
ภายใต้ข้อตกลง รวมกิจการครั้งนี้ มีการประเมินมูลค่าตามราคาตลาดของแกร็บอยู่ที่ 40,000 ล้านเหรียญ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้แกร็บกลายเป็นบริษัทที่เข้าตลาดผ่านวิธี SPAC ที่มีมูลค่าสูงสุดทำลายสถิติเดิมของ Lucid Motors
VOAThai รายงานว่า SPAC หรือบริษัท “เช็คเปล่า” เป็นบริษัทที่ไม่มีสินทรัพย์หรือธุรกิจของตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจง บริษัท SPAC มีหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รอไว้ ก่อนที่จะออกไปหาซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทเอกชน และทำให้บริษัทเอกชนนั้นๆกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย เปรียบเหมือนทางลัดในการเข้าตลาดหุ้น
นายแอนโธนี ตัน (Anthony Tan) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ วัย 39 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีเงินทุนมากขึ้นในการเพิ่มเครือข่ายการส่งสินค้าและอาหาร รวมทั้งสามารถขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธนาคารดิจิทัลและระบบจ่ายเงินออนไลน์
ราว 3 ปีก่อน แกร็บได้เข้าซื้อกิจการคู่แข่งอย่างอูเบอร์ (Uber) ในภูมิภาคเอเชียมาแล้ว และในปีที่ผ่านมามีความพยายามจะควบรวมกิจการกับโกเจ็ก (Gojek) สตาร์ตอัพยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งอีกราย แต่ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็ออกมาประกาศล้มเลิกการเจรจา จึงคาดกันว่าการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้จะทำให้แกร็บมีกำลังมากขึ้นในการเจาะตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ เปรียบได้กับชิ้นปลามัน.