Tinder (ทินเดอร์) แอปพลิเคชันหาคู่ ที่ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 430 ล้านครั้ง อัปเดตเทรนด์การออกเดตของคนในยุคโควิด–19 โดยปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีผู้ใช้งานทินเดอร์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษใหม่ของการหาคู่ ที่นักออกเดตมองหาความสัมพันธ์แบบ “เป็นไงเป็นกัน” เน้นทำกิจกรรมแบบสบายๆ เช่น เล่นสเกต ปาหิมะ และแสวงหาสัมผัสทางร่างกายหลังต้องรักษาระยะห่างมานาน

สมาชิกทินเดอร์ทั่วโลกมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มคนเจน Z (อายุระหว่าง 18-25 ปี) ใช้เวลาสนทนาบนทินเดอร์มากขึ้นกว่าเดิม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการส่งข้อความต่อวันมากขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และยังมีการพูดคุยยาวนานขึ้น 32%

คนเจน Z ได้เปลี่ยนไปคุยกันทางวิดีโอมากขึ้น โดยเกือบครึ่งใช้การวิดีโอคอลกับคู่ที่แมตช์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด และ 40% จะใช้วิดีโอคอลเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดจะซาลงแล้ว การใช้งานและกิจกรรมบนทินเดอร์มียอดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี โดยมีการปัด (Swipe) หรือเลือกคนที่สนใจ เพิ่มขึ้น 11% และมีการแมตช์เพิ่มขึ้นถึง 42% ต่อ 1 สมาชิก

...

กลุ่มคนเจน Z แหกกฎการหาคู่และข้อห้ามเดิมๆ เปลี่ยนจากออกเดตแบบค่อยเป็นค่อยไปมาเป็นการทำตัวลื่นไหลไปตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความคาดหวัง (ไม่คิดเยอะ เป็นไงเป็นกัน) แง่ของอารมณ์ (ซื่อตรง และเป็นตัวของตัวเอง) และแง่ของประสบการณ์ (ทำกิจกรรม ที่มีความหมายด้วยกันมากกว่าแค่ละลายพฤติกรรม) ซึ่งกลายเป็นความโดดเด่นของการออกเดตในยุคดิจิทัล

สไตล์การหาคู่ของคนเจน Z มีความย้อนแย้งในตัว ในขณะที่พวกเขาขยายขอบเขตในการหาคู่ให้กว้างขึ้น แต่กลับคว้าคนใกล้ตัวในบริเวณเดียวกันเพื่อออกเดต และในขณะที่พวกเขาใช้เวลาอย่างเร่งรีบไปกับการพาตัวเองไปออกเดต ก็ไม่ลืมที่จะหาเวลาเล็กๆน้อยๆให้กับโมเมนต์หวานๆเช่นกัน

ทินเดอร์ ประเมิน 8 เทรนด์หลักในการหาคู่ในทศวรรษหน้า ได้แก่ 1.คนหาคู่จะมีความซื่อตรงและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เนื่องมาจากโควิด-19 ทำให้หลายคนตระหนักรู้ ยอมรับและเข้าใจตัวเองมากกว่าเคย ทั้งในเรื่องตัวตน ภาพลักษณ์ และประสบการณ์ส่วนตัว โดยในช่วงการแพร่ระบาด มีการใช้คำว่า “วิตกกังวล” และ “ทำให้เป็นเรื่องปกติ” ในโปรไฟล์เพิ่มมากขึ้น โดยมีการใช้คำว่า “วิตกกังวล” เพิ่มมากขึ้น 31% ส่วนคำว่า “ทำให้เป็นเรื่องปกติ” เพิ่มขึ้นมากกว่า 15 เท่า

2.การมีขอบเขตในเรื่องต่างๆชัดเจนมากยิ่งขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องของขอบเขตความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สมาชิกทินเดอร์ใช้โปรไฟล์ของตัวเองอธิบายความคาดหวังอย่างชัดเจน เช่น การใช้คำว่า “สวมหน้ากากอนามัย” เพิ่มขึ้นสูงถึง 100 เท่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

3.ผู้คนอยากมีความสัมพันธ์แบบ “เป็นไงเป็นกัน” มากขึ้น โดยคนหาคู่จำนวนมากกำลังมองหา ความสัมพันธ์แบบ “ไม่ต้องมีคำนิยาม” เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เป็นการมองหาความสัมพันธ์แบบเปิดที่ไม่ผูกมัดมากกว่าความต้องการที่จะแต่งงาน

4.การออกเดตออนไลน์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ โดยมองว่าการเดตออนไลน์ทำให้ความรู้สึกกดดันในการศึกษาเพื่อนใหม่ลดน้อยลง โดยสมาชิกทินเดอร์เจน Z จำนวน 40% กล่าวว่าพวกเขาจะยังคงออกเดตออนไลน์ต่อไป แม้การระบาดจะซาลง

5.เดตแรกในอนาคต เน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสรรค์มากกว่าเดิม เพราะบาร์ ร้านอาหารที่ปิดและอาจไม่ปลอดภัย นักออกเดตจะเลือกกิจกรรมของเดตแรกที่สร้างสรรค์ มีความเป็นส่วนตัว และสบายๆ มีการใช้คำบนโปรไฟล์ว่า “กำลังเล่นโรลเลอร์สเกต” เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า รวมถึงการระบุว่าอยากให้กิจกรรมของเดตแรกเป็นการก่อสร้างปราสาท ไปจนถึงการปาหิมะใส่กัน

...

6.กักตัวมานานการสัมผัสทางร่างกายกลายเป็นสิ่งจำเป็น ผู้คนใช้โปรไฟล์ของตัวเองในการแสวงหาการแสดงออกถึงความรักใคร่ เช่น การจับมือ อ้อมกอด หรือการที่มีใครบางคนมาลูบไล้ผม โดยมีการใช้คำว่า “อ้อมกอด” เพิ่มขึ้น 23% และคำว่า “จูงมือกัน” สูงขึ้น 22%

7.มองหาเพื่อนใหม่ได้ทั่วโลก แต่เลือกเดตกับคนที่อยู่ใกล้ คนที่ย้ายที่อยู่จะสมัครใช้งานทินเดอร์เพื่อค้นหาเพื่อนใหม่ที่อยู่ในเมืองนั้น ด้วยการระบุ “ย้ายบ้านใหม่” ในโปรไฟล์ของตัวเองสูงขึ้น 28%

8.การออกเดตแบบเจอตัวเป็นๆกำลังจะเกิดขึ้น หลังได้รับวัคซีน ข้อมูลในเดือนตุลาคม 2563 บ่งชี้ว่า สมาชิกทินเดอร์มากกว่า 40% ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่เคยได้พบกับคู่ที่แมตช์ตัวเป็นๆ แต่โปรไฟล์ของทินเดอร์กลับบอกตรงกันข้าม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การใช้คำว่า “กำลังไปออกเดต” ในโปรไฟล์ทำลาย สถิติสูงสุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าการออกเดตแบบเจอกันตัวเป็นๆ ในปี 2563 จะลดน้อยลง แต่ถ้าได้รับวัคซีนเมื่อไร พวกเขาก็พร้อม ที่จะออกนอกบ้านทันที