ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการอ่านหนังสืออย่างมาก ในเดือนหนึ่งๆ ค่าใช้จ่ายของหนังสือมีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ถ้าช่วงไหนเป็นช่วงเทศกาลหนังสือ ก็มีโอกาสที่จะล้มละลายจ่ายเงินแบบไม่ทันได้ฉุกคิดกับหนังสืออย่างง่ายดาย
อย่างที่ทราบ ในปัจจุบันหนังสือมีทั้งหนังสือแบบเล่มที่เราคุ้นเคยกันดี หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (E-book) ไปจนถึงหนังสือเสียง (Audio Book) ที่กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับนักอ่าน นั่นเป็นเพราะว่าหนังสือเสียงสามารถทำให้เราเพลิดเพลินกับหนังสือได้ โดยที่เรายังได้รับสารอย่างครบถ้วน ภายใต้เงื่อนไขว่า เราจะต้องมีสมาธิในการฟัง
พร้อมกันนี้ หนังสือเสียงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอ่าน (ฟัง) หนังสือได้ว่องไวกว่าเดิมด้วย เพราะในหลายสถานการณ์ เราคงไม่สามารถหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ เช่น บนขนส่งสาธารณะที่มีเสียงโฆษณาดังจนไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ ก็หยิบหูฟังขึ้นมาฟังหนังสือเสียงได้เลย หรือบางครั้งหนังสือเล่มที่กำลังอ่านอยู่นั้น เป็นหนังสือที่มีความหนาเกือบหนึ่งพันหน้า ก็ยุ่งยากเกินกว่าจะพกไปอ่านนอกบ้าน หนังสือเสียงจึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้
ที่ผ่านมา ในวงการหนังสือมีผู้ให้บริการอีบุ๊กและหนังสือเสียงจำนวนมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นแอปพลิเคชันที่มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่กำลังจะพูดถึงในที่นี้ เป็นแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Storytel ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างหนังสือภาษาอังกฤษและหนังสือภาษาไทย
อินเตอร์เฟส
...
เมื่อเปิดแอปพลิเคชัน Storytel ความรู้สึกแรกที่พุ่งเข้ามาก็คือ แอปนี้มีอินเตอร์เฟสที่มาจากส่วนผสมระหว่างสปอติฟาย (Spotify) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อย่างชัดเจน โดยส่วนที่คล้ายกับเน็ตฟลิกซ์ ก็อยู่ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชัน มีการจัดวาง Thumbnail ของคอนเทนต์ที่คล้ายกัน มีการจัดแบ่งหมวดหมู่ ประเภทของคอนเทนต์ ซึ่งก็โอเค เพราะทำให้การใช้งาน Storytel ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เนื่องจากคนทั่วไปคุ้นเคยกับเน็ตฟลิกซ์ดีอยู่แล้ว
เมื่อเราเลื่อนลงมาเรื่อยๆ พบว่า มีการแบ่งหมวดหมู่ของแต่ละคอนเทนต์ ขณะที่กำลังรีวิวอยู่นี้ เป็นช่วงก่อนเปลี่ยนปีปฏิทินจาก 2020 สู่ปี 2021 จึงมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับปีใหม่ ซึ่ง Storytel ใช้ชื่อเมนูว่า New Year, New You
ต่อมาหน้าตาเมนู Search ก็จะพบกับหมวดหมู่ยอดนิยม ซึ่งการจัดวาง โทนสีต่างๆ คล้ายกับเมนูเสิร์ชของแอปพลิเคชันสปอติฟาย ทางด้านการจัดหมวดหมู่ยอดนิยมของ Storytel ก็ถือว่าครอบคลุมในระดับหนึ่ง
ส่วนหน้าคอนเทนต์ จะบอกว่าหนังสือที่เราสนใจตอนนี้เป็นหนังสือแบบใด เช่น หนังสือเสียง หรืออีบุ๊ก ซึ่งถ้าเป็นหนังสือเสียงจะมีบอกชัดเจนว่า ความยาวของหนังสือเล่มนี้ มีความยาวกี่ชั่วโมง และค้นหาหนังสือเล่มอื่นๆ ได้ต่อเนื่อง ผ่านแท็กที่อยู่ด้านล่าง
การใช้งาน
Storytel เป็นแอปพลิเคชันที่ผสมผสานระหว่างการเป็นผู้ให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็มีฟังก์ชันหนังสือเสียงด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า หนังสือทุกเล่มจะมีทั้งอีบุ๊กและหนังสือเสียงในเวลาเดียวกัน แต่ขึ้นอยู่กับหนังสือนั้นๆ ด้วย
ยกตัวอย่าง คอนเทนต์ระดับแม่เหล็กอย่าง Harry Potter ที่มีครบทั้ง 7 เล่มหลัก จะมีเฉพาะหนังสือเสียงเท่านั้น
ในการเข้าใช้งาน Storytel มาพร้อมกับระบบ AI คอยดูว่าหนังสือที่คุณผู้อ่านให้ความสนใจนั้น เป็นหนังสือประเภทใด เมื่อระบบทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานในระดับหนึ่งแล้ว ระบบก็จะแนะนำหนังสือที่คาดว่าคุณจะชอบในหมวดหมู่ “แนะนำเฉพาะคุณ”
คอนเทนต์ระดับแม่เหล็กของ Storytel
ข้างต้นได้เกริ่นเอาไว้แล้วว่า Storytel มีหนังสือ Harry Potter ให้นักอ่านอย่างเราๆ ได้ฟังกัน ซึ่งนอกเหนือจากการผจญภัยในโลกพ่อมดทั้ง 7 เล่มแล้ว Storytel ยังมีหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ประพันธ์โดยเจ.เค.โรวลิง เช่น Quidditch Through the Ages, Fantastic Beast and Where to Find Them อีกด้วย
ตามด้วยหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ทั้งในโลกของหนังสือและภาพยนตร์อย่าง The Hunger Games ผลงานของซูซาน คอลลินส์ ก็มีให้อ่านครบทั้ง 3 เล่ม แต่น่าเสียดายนิดหน่อยตรงที่ไม่มีภาษาไทย ต้องฟังเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น
ขณะที่หนังสือสืบสวนระดับตำนานจากปลายปากกาของเซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ อย่าง Sherlock Holmes ก็มีในแอปพลิเคชัน Storytel เช่นกัน โดยเป็นหนังสือเสียงแปลไทย มีครบถ้วนทั้งนิยายหลักทั้ง 4 เล่ม A Study in Scarlet, The Sign of the Four, The Hound of the Baskervilles, The Valley of Fear เรื่องสั้น 5 เล่ม The Adventures of Sherlock Holmes, The Memoirs of Sherlock Holmes, The Return of Sherlock Holmes, His Last Bow และ The Case-Book of Sherlock Holmes
...
พร้อมกันนี้ Storytel มีคอนเทนต์ที่ล้อไปกับซีรีส์และภาพยนตร์จากเน็ตฟลิกซ์ด้วย ดังนั้นคุณจะได้ฟัง The Queen’s Gambit ในอีกอรรถรสหนึ่ง หลังจากที่ได้ดูฉบับซีรีส์ที่นำแสดงโดยอันยา เทย์เลอร์-จอย มาแล้ว อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ในที่ล้อไปกับเน็ตฟลิกซ์ มีไม่เยอะมากนัก
นอกเหนือจากนี้ Storytel ยังมีในส่วนวรรณกรรมคลาสสิกแปลไทย เท่าที่สำรวจพบว่า การเลือกหนังสือให้คนไทยได้ฟังทำได้ดีทีเดียว โดยมีหนังสือน่าสนใจหลายเล่ม อาทิ ยูโทเปีย มหานครในฝัน, 1984, แอนิมอล ฟาร์ม, ขุมทรัพย์โซโลมอน, ปีศาจแห่งโรงละครโอเปรา, แฟรงเกนสไตน์ เป็นต้น
ค่าบริการ
Storytel ก็เหมือนแอปพลิเคชันอย่างเน็ตฟลิกซ์ แอปเปิลทีวี แอมะซอนไพรม์ ที่จะต้องเสียเงินก่อนเข้าใช้บริการ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ สามารถทดลองใช้ได้ก่อน 14 วัน ซึ่งอัตราค่าบริการมี 3 ราคาด้วยกัน แบ่งเป็น
- 229 บาทต่อเดือน (รายคน) *ในระบบปฏิบัติการ iOS คิดค่าบริการรายเดือน 279 บาท*
- 309 บาทต่อเดือน (สำหรับผู้ใช้งานจำนวนสองคน)
- 379 บาทต่อเดือน (สำหรับครอบครัวจำนวนสามคน)
...
จุดเด่น VS. จุดด้อย
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Storytel คงต้องบอกว่า ตัวแอปพลิเคชันรองรับทั้งในส่วนที่เป็นหนังสือเสียงและเป็นอีบุ๊กในเวลาเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีในหนังสือทุกๆ เล่มก็ตาม
ขณะเดียวกัน กรณีที่เป็นหนังสือ ซึ่งมีทั้งอีบุ๊กและหนังสือเสียงในเล่มเดียวกัน ถ้าหากเรากดเลือกฟังเป็นหนังสือเสียง แล้วภายหลังต้องการอ่านเป็นอีบุ๊ก เนื้อหาจะซิงก์กัน เกิดความต่อเนื่องในการอ่าน
นอกจากนั้น คุณสมบัติของการเป็นหนังสือเสียงก็ถือว่ามีฟีเจอร์ครบเท่าที่จำเป็นในการใช้งาน เช่น การปรับความเร็วในการอ่าน การเซฟหนังสือเสียงเพื่อฟังแบบออฟไลน์ ลดการบริโภค 4G หรือ 5G รวมถึงการแชร์ไปยัง IG Story, FB Story และโซเชียลอื่นๆ เพื่อบอกให้เพื่อนๆ ในโลกออนไลน์รู้ว่าเรากำลังอ่านหรือฟังหนังสือเล่มใดอยู่
ส่วนคุณผู้อ่านที่หมายมั่นปั้นมือจะอ่านและฟังหนังสือที่เป็นภาษาไทยนั้น ต้องบอกว่า ตอนนี้ยังมีไม่เยอะมากราว 1 พันเล่ม ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษมีเยอะพอสมควรประมาณ 2.5 แสนเล่ม แต่ปริมาณหนังสือที่ว่าเยอะนั้น ก็ไม่ได้เป็นหนังสือใหม่แกะกล่องชนิดที่ว่า หนังสือเล่มนี้เพิ่งขายในสหรัฐอเมริกาวันนี้ แล้ววันรุ่งขึ้นมีให้อ่านใน Storytel เลย หนังสือในแอปยังไม่เร็วขนาดนั้น
อนุมานว่า ทางผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Storytel จะต้องเจรจากับทางสำนักพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะนำหนังสือเล่มนั้นๆ มาลงในแพลตฟอร์มแห่งนี้
ขณะที่หนังสือเสียงฉบับภาษาไทยนั้น เท่าที่สังเกต เป็นหนังสือที่แปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย แล้วพัฒนามาเป็นหนังสือเสียง จึงเป็นความยุ่งยากและความซับซ้อนอีกพอสมควร
...