การประดิษฐ์สร้างหุ่นยนต์ในยุคนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ที่จะชวนตื่นตะลึงก็คือการสร้างหุ่นยนต์ในแบบที่ซับซ้อน เช่น การควบคุมด้วยชิปคอมพิวเตอร์ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก สร้างหุ่นยนต์ที่เดินทางผ่านเนื้อเยื่อและเลือดของมนุษย์ได้ หุ่นยนต์จิ๋วเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือนศัลยแพทย์ การสร้างกลุ่มหุ่นยนต์เดินได้นับล้านตัวจึงเป็นทางเลือกในการช่วยสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในระดับกล้องจุลทรรศน์

มาร์ค มิสคิน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า จริงอยู่ที่มีนักวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์สร้างขนาดเล็กมาก่อน แต่หุ่นยนต์ กลับไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะขาดตัวกระตุ้นขนาดไมโครเมตร อันเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหว เช่น การงอขาของหุ่นยนต์ แต่มิสคินและทีมงานได้เอาชนะปัญหานี้ด้วยการพัฒนาตัวกระตุ้นชนิดใหม่ ทำจากชั้นแร่แพลตตินัมที่บางมาก หุ่นยนต์แต่ละตัวใช้ตัวกระตุ้นขนาดเล็ก 4 ตัวเป็นขาเชื่อมต่อกับเซลล์แสงอาทิตย์ที่ด้านหลัง ทำให้ขางอเพื่อตอบสนองต่อแสงเลเซอร์และขับเคลื่อนตัวถังโลหะทรงสี่เหลี่ยมไปข้างหน้า

ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ผลิตหุ่นยนต์ตัวกระจิริดได้มากกว่าหนึ่งล้านตัว ออกแบบให้หุ่นยนต์แต่ละตัวมีขนาดเล็กกว่า 0.1 มิลลิเมตร สามารถมองเห็นได้ภายใต้กล้องจุลทรรศน์เท่านั้น.

(ภาพ : Credit : Marc Miskin)