รถจักรยานให้เช่าแบบ (bike-sharing) ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงความล้มเหลวของธุรกิจอย่างสิ้นเชิงในหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยของเราผู้ให้บริการหลายรายเลิกกิจการไปเรียบร้อยภายหลังเปิดบริการเพียงไม่นาน
เช่นเดียวกับอูเบอร์ (Uber) ใช้เวลาเพียง 2 ปีที่เข้าซื้อกิจการ Jump Bikes ซึ่งเป็นกิจการสตาร์ตอัพปล่อยให้เช่ารถจักรยานไฟฟ้าแบบไร้สถานี (bike-sharing) ที่สุดก็ได้ออกจากธุรกิจนี้ไปเรียบร้อย
มีรายงานว่าอูเบอร์ได้ใช้เงินซื้อกิจการดังกล่าวถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานว่าอูเบอร์ได้ลงทุนอีก 170 ล้านดอลลาร์ ในบริษัท Lime ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า โดยมีข้อตกลงโอนกิจการของ Jump Bikes มารวมไว้ด้วยกัน
พร้อมกันนั้นได้ปลดพนักงานของบริษัทดังกล่าวเกือบทั้งหมด และจักรยานไฟฟ้าส่วนหนึ่งถูกโอนมายังบริษัท Lime และที่เหลืออีกเกือบ 20,000 คันถูกทิ้งไป
มีรายงานข่าวจากทวิตเตอร์ว่า รถจักรยานไฟฟ้าดังกล่าวถูกรถบรรทุกขนไปชำแหละที่โรงงานรีไซเคิล โดยมีคำถามตามมาว่า ทำไมรถจักรยานไฟฟ้ายังมีสภาพดีอยู่ไม่ถูกนำไปบริจาค แทนที่จะเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล โดยแบตเตอรี่และยางจักรยานถูกถอดออกเหลือแต่โครงเหล็กที่ถูกนำเข้าไปในกระบวนการดังกล่าว
...
ในที่สุดโฆษกของอูเบอร์ได้ออกมาสร้างความกระจ่างว่า ในข้อตกลงส่วนหนึ่งของ Lime ที่รับโอนจักรยานไฟฟ้าและสกูตเตอร์ไฟฟ้าหลายหมื่นคันจาก Jump Bikes พวกเราได้สำรวจเพื่อทำการบริจาครุ่นเก่าๆ แต่มีปัญหา สำคัญ รวมถึงการบำรุง รักษา ความรับผิดชอบ ความกังวลด้านความปลอดภัย การขาดอุปกรณ์ชาร์จแบตเกรดสำหรับผู้บริโภค
“พวกเราจึงตัดสินใจวิธีการดีที่สุดคือการนำไปรีไซเคิลอย่างมีความรับผิดชอบ พวกเราเข้าใจว่า Lime กำลังเดินหน้าให้บริการเช่าจักรยานและสกูตเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก ที่เขาได้ไปจากพวกเราและจะยังให้บริการต่อในตลาดอื่นๆต่อไป”
มีการมองกันว่าเป็นจุดจบของเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืน การเปิดตัวให้บริการของ Jump Bikes มีเป้าหมายไม่ให้ผู้คนใช้รถยนต์กันและหันมาใช้จักรยานไฟฟ้ากันมากขึ้น
แต่ในช่วงเวลาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สร้างผลกระทบไปทั่ว ผู้คนตกงานกันมากและไม่มีเงินกัน จักรยานไฟฟ้าเหล่านี้น่าจะถูกบริจาคให้พวกเขาได้ใช้เป็นพาหนะเดินทางกัน!!
หนุ่มดิจิทัล
cybernet@thairath.co.th