ทำความรู้จัก KYC คืออะไร? หลังจากที่รัฐบาลอัปเดตความคืบหน้าของโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเตรียมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในเร็วๆ นี้ แต่จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบ "KYC" ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัว และป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ในการทำธุรกรรมการเงิน
ทำความรู้จัก KYC คืออะไร ทำไมธนาคารและสถาบันการเงินให้ความสำคัญ
"KYC" คือระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ซึ่ง KYC ย่อมาจากคำว่า Know Your Customer หมายถึง "การทำความรู้จักลูกค้า" ถือเป็นขั้นตอนของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ที่นำมาใช้ในการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งาน รวมไปถึงเอกสารทางราชการต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการสวมรอย แอบอ้างตัวตน หรือปลอมแปลงทำธุรกรรมทางการเงินแทนบุคคนอื่น
ทั้งนี้ KYC หรือ Know Your Customer เป็นระบบที่จะช่วยป้องกันการกระทำผิดกฎหมายด้านอาชญากรรมทางการเงิน ตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งได้กำหนดให้สถาบันการเงิน, ธนาคาร, บริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต., บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต่างๆ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน KYC ให้กับลูกค้า เพื่อให้มีการพิสูจน์ตัวตนก่อนเริ่มทำธุรกรรมทางการเงินนั่นเอง
...
การยืนยันตัวตนผ่าน KYC มีกี่แบบ รู้ไว้ก่อนเริ่มยืนยันตัวตน
ปัจจุบันการใช้ระบบ KYC : Know Your Customer ยืนยันตัวตน สามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการเดินทางไปยืนยันตัวตนเองผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร, ตู้เอทีเอ็มยืนยันตัวตน, เครื่องอ่านค่าบัตรสมาร์ทการ์ดรูปแบบต่างๆ โดยแบ่งประเภทการทำ KYC ได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. ยืนยันตัวตน KYC แบบ Online (E-KYC)
วิธีนี้เราสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงธนาคารหรือสถาบันการเงิน สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้เลย แต่มักจะต้องให้ข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) เช่น ถ่ายรูปใบหน้า หรือสแกนลายนิ้วมือ
2. ยืนยันตัวตน KYC แบบ Face to Face
วิธีนี้เราจะต้องไปแสดงตนแบบพบหน้ากับเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อให้ตรวจสอบบัตรประชาชนผ่านเครื่อง Smart Card Reader รวมถึงพิสูจน์ตัวตนด้วยขั้นตอนต่างๆ โดยผู้ที่ทำธุรกรรมต้องเดินทางไปเอง
รัฐบาลเตรียมใช้ KYC ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
โครงการรัฐที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนได้เข้าไปยืนยันข้อมูลเพื่อใช้สิทธิต่างๆ ทำให้มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐแล้วประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งยังมีอีกราว 10 ล้านที่ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิรับเงินอีกครั้ง
เงินดิจิทัล 10,000 คืออะไร
โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยจะมีการเติมเงินจำนวน 10,000 บาท ให้กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ของประชาชน จ่ายงวดเดียวไม่มีการแบ่งจ่าย ซึ่งจะดำเนินการผ่าน Super App หรือแอปพลิเคชันใหม่ของรัฐบาลที่กำลังพัฒนาเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งาน
เงินดิจิทัล 10,000 ลงทะเบียนเมื่อไหร่
ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องเตรียมลงทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะมีกำหนดวันลงทะเบียนประกาศอีกครั้ง ส่วนประชาชนทั่วไปจะต้องลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทวันไหน คาดว่าจะมีกำหนดอีกครั้งหลังจากทางร้านค้าเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว
เงินดิจิทัล 10,000 ใครได้บ้าง
คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องมีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก ส่วนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการอื่นๆ เช่น บัตรคนชรา บัตรคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะได้รับเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทเช่นกัน
เงินดิจิทัล 10,000 เงื่อนไขที่ควรรู้
เงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท จะกำหนดให้สามารถใช้จ่าย ณ ร้านค้าต่างๆ ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน (ปรับเปลี่ยนได้) มีระยะเวลาให้ใช้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น สามารถทยอยใช้เรื่อยๆ หรือจะใช้ครั้งเดียวหมด 10,000 บาทก็ได้
...
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้ออะไรได้บ้าง
สามารถนำไปซื้อสินค้าต่างๆ ที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เครื่องมือทำกิน ฯลฯ โดยมีข้อห้ามใช้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น ยาเสพติด การพนัน ฯลฯ
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้อทองได้ไหม
เบื้องต้น ยังไม่มีรายละเอียดว่าสามารถซื้อทองคำได้ คาดว่าไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่โครงการกำหนด
เงินดิจิทัล 10,000 ได้วันไหน
รัฐบาลจะโอนเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 ให้ประชาชนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข และยืนยันตัวตนผ่าน KYC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับเงินในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
อย่างไรก็ตาม ทางการจะมีประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมด้วยขั้นตอนการยืนยันตัวตน KYC และเงื่อนไขต่างๆ รอติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ไทยรัฐออนไลน์
ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารธนชาติ
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม