ยานพาหนะอย่างรถยนต์หรือจักรยานยนต์มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของใครหลายคนไม่น้อยเลยนะครับ เพราะถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ระบบขนส่งมวลชนยังมีข้อจำกัดบางประการ ทั้งในแง่ของพื้นที่ หรือแม้แต่เวลาที่เดินทางกลับบ้านนั้นระบบขนส่งมวลชนได้หยุดให้บริการไปแล้ว จนไปถึงการที่ต้องใช้พาหนะเหล่านี้ในการประกอบอาชีพ
เมื่อยานพาหนะมีบทบาทสำคัญมากถึงเพียงนี้ ดังนั้นแล้วการเลือกซื้อยานพาหนะก็มีเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ นั่นเป็นเพราะยานพาหนะเป็นสินค้าที่มีราคาแพง การจะเลือกซื้อสักครั้งหนึ่งนั้น จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด และจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง
รู้เป้าหมายในการซื้อยานพาหนะให้เหมาะสมกับงาน-เงินในกระเป๋า
การซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาอันดับแรก คือการซื้อให้เหมาะสมกับอาชีพหรือลักษณะการทำงานของเรา สมมติถ้าหากว่าเรามีอาชีพในตำแหน่งเกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ หรืองานประเภท AE แต่ลักษณะงานส่วนใหญ่เดินทางอยู่แต่ในกรุงเทพมหานคร แบบนี้การซื้อรถยนต์ประเภท Eco Car ก็อาจเหมาะสมมากกว่าการซื้อรถยนต์ราคาแพงครับ
ถ้าหากเป็นการใช้งานรถจักรยานยนต์ สมมติว่างานนั้นเป็นงานประเภทต้องใช้งานแทบจะตลอดเวลา เช่น รับส่งของ แบบนี้อาจต้องมองหาจักรยานยนต์ที่มีความทนทานของเครื่องยนต์มากกว่าลักษณะการใช้งานประเภทเอาไว้ใช้แค่การเดินทางไป-กลับที่ทำงานและที่พักครับ
นอกจากนี้ การซื้อพาหนะมาใช้งาน ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายแฝงที่เราอาจลืมคิดไป ตั้งแต่ค่าประกันภัย, ค่าพ.ร.บ.รถยนต์, ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา, ค่าที่จอดรถ, ค่าทางด่วน และที่สำคัญคือเรื่องของภาษี โดยเฉพาะถ้าหากซื้อรถยนต์ ค่าใช้จ่ายที่ผมยกมานี้นับว่าไม่น้อยเลยนะครับ
...
การพิจารณาใช้ยานพาหนะให้เหมาะสม ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือต้องเหมาะสมกับเงินในกระเป๋าของเราด้วยครับ เราต้องดูว่ารายได้ของเราในระยะข้างหน้าจะสามารถที่จะผ่อนชำระยานพาหนะแล้วมีงบเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้ด้วยหรือไม่
แต่ถ้าหากจะซื้อด้วยเงินสด ผมแนะนำให้คำนวณว่าจะเหลือเงินเก็บพอที่จะใช้กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นหรือไม่ เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความไม่แน่นอนสูง ล่าสุดสถาบันการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยลดลง ผมจึงอยากให้มองเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ต้องคิดด้วยครับ
ค่อยๆ เลือกสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
หลังจากที่เรามีรุ่นของรถยนต์หรือจักรยานยนต์ในใจ มีการพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่จะต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง คือการหาสินเชื่อที่เหมาะสมกับยานพาหนะ โดยคำศัพท์ที่สำคัญที่เราควรรู้ไว้ให้ดีในการผ่อนยานพาหนะของเรา ได้แก่
- การจัดไฟแนนซ์ หมายถึง การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อซื้อรถยนต์ในกรณีที่คุณไม่มีเงินก้อนมากพอจะจ่ายเงินซื้อยานพาหนะในคราวเดียว โดยหลังจากนี้สถาบันการเงินจะจ่ายเงินก้อนนี้ให้กับบริษัทที่คุณซื้อพาหนะ ขณะเดียวกันตัวคุณเองก็จะต้องผ่อนชำระเงินให้กับทางสถาบันการเงิน
- เงินดาวน์ หมายถึง เงินก้อนแรกที่คุณจะต้องจ่ายในการผ่อนรถ และในเม็ดเงินส่วนที่เหลือก็จะผ่อนส่งพร้อมกับดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จนครบกำหนด แล้วแต่สัญญา
- ยอดจัด หมายถึง จำนวนเงินที่คุณได้กู้ยืมจากสถาบันการเงินและต้องผ่อนส่ง เช่น รถยนต์ราคา 750,000 บาท หากคุณวางเงินดาวน์ 250,000 บาท ก็จะมียอดจัดของสถาบันการเงินทั้งสิ้น 500,000 บาทนั่นเอง โดยยอดตัวนี้จะเป็นจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณหาดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในแต่ละงวดครับ
- อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ หมายถึง ดอกเบี้ยที่มีการคิดคำนวณเอาไว้แล้วล่วงหน้า แล้วนำเงินจำนวนนั้นมารวมกับเงินต้นที่เหลือผ่อนจ่ายในแต่ละเดือน
- อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้เงินต้องจ่ายจริง หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณจากจำนวนเงินที่ผู้กู้ได้รับจริง ระยะเวลาการกู้ยืม การจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละงวด โดยจะพิจารณาจากส่วนต่างที่แท้จริงของเงินต้นกับเงินที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืนครับ
...
สินเชื่อสำหรับยานพาหนะโดยส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยจะคิดไม่เหมือนกับที่อยู่อาศัย เพราะว่าถ้าดอกเบี้ยสำหรับยานพาหนะมักจะมีการคิดดอกเบี้ยรวมมาแล้ว ไม่ได้ลดต้นลดดอกเหมือนกับที่อยู่อาศัย แต่ก็มีบางสถาบันการเงินที่มีสินเชื่อแบบลดต้นลดดอกอยู่บ้าง ต้องพิจารณากันให้ดีและละเอียดถี่ถ้วนครับ
ขณะที่โปรโมชั่นของสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินก็แตกต่างกันไปครับ แล้วแต่ช่วงเวลานั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าลืมที่จะคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เราต้องผ่อนจ่ายในแต่ละงวดคร่าวๆ เอาไว้ด้วย ซึ่งหลายสถาบันการเงินเองมีโปรแกรมเอาไว้ให้ลูกค้าลองคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ครับ
ถ้าหากมีข้อสงสัยในเรื่องสินเชื่อก่อนที่เราจะติดต่อยื่นขอสินเชื่อเหล่านี้ ควรสอบถามสถาบันการเงินที่เราสนใจ และไม่ต้องเขินอายที่จะสอบถามสิ่งที่เราสงสัยครับ เพราะการเลือกสินเชื่อจากสถาบันการเงินเหมาะกับเราจะสามารถทำให้เราประหยัดเงินและประหยัดเวลาได้พอสมควรเลยครับ
ตัวช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า
- รถมือสองหรือดาวน์ต่อจากคนอื่นก็น่าสนใจไม่น้อย ถ้าหากมีความจำเป็นต้องการใช้ยานพาหนะจริงๆ ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เองในตลาดมือสอง หรือแม้แต่หารถผ่อนต่อจากเจ้าของคนอื่นที่ไม่สามารถผ่อนไหวก็ได้ครับ นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือเราจะได้รถราคาถูก แต่ข้อสำคัญคือเราจะต้องดูยานพาหนะว่าสภาพการใช้งานดีหรือไม่ (หรือถ้าหากมีญาติ-เพื่อนฝูงที่ดูแลรถเป็นอย่างดี ก็พอเป็นทางออกที่น่าสนใจครับ)
- อย่าจ่ายค่างวดผ่อนรถเกินกำหนด เพราะจะมีค่าใช้จ่ายอื่นตามมา ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้สถาบันการเงินเรียกเก็บโหดมากนะครับ เช่น ค่าออกเอกสาร รวมกันแล้วหลายร้อยบาท
- โดนยึดรถแล้วอาจไม่ใช่จบแล้วจบเลย สถาบันการเงินอาจเรียกเก็บเงินส่วนต่างต่อจากคุณ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าหลายคนไม่ค่อยรู้ ยกตัวอย่างเช่น ยอดหนี้รถของคุณ 650,000 บาท ถ้าหากสถาบันการเงินนำรถของคุณไปขายที่ราคา 450,000 บาท ฉะนั้นเงินส่วนต่าง 200,000 บาทที่ว่านี้เราต้องหาเงินมาโปะต่อ เรื่องนี้จะต้องระวังให้ดีนะครับ
...
- ยิ่งดาวน์เยอะ ยิ่งสบายในภายหลัง ถ้าหากเรามีเงินก้อนที่เอาไว้ดาวน์พาหนะมากแล้ว งวดที่เราผ่อนก็จะลดลง ภาระทางการเงินในแต่ละเดือนก็จะลดลงมากครับ ปัญหาที่ผมพบมากในหัวข้อก่อนหน้านี้คือการซื้อรถราคาแพง แต่ใช้เงินดาวน์น้อย เมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ ก็กลายเป็นว่าหลายๆ คนผ่อนต่อไม่ไหวครับ สูตรที่ผมแนะนำ เราควรจะดาวน์รถเกิน 35% ของราคารถครับ
- ถ้าหากผ่อนรถไม่ไหว ลองคุยกับสถาบันการเงินที่เราใช้บริการอยู่ ผมเข้าใจว่าหลายท่านอาจประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ที่มีอยู่แต่เดิมลดลง ขณะที่รายจ่าย โดยเฉพาะสินเชื่อยานพาหนะเองก็ยังมีอยู่ทุกเดือน ถ้าหากท่านประสบปัญหานี้ลองติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกดูก่อนครับ ซึ่งอาจมีหลายตัวเลือก เช่น รีไฟแนนซ์ ยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไป เป็นต้น
...
ที่มา: