เทรนด์โลกปี 2564 หนีไม่พ้นเรื่องโควิด-19 อันเป็นตัวเร่งให้การจัดสรรทรัพยากรทั่วโลกเป็นไปอย่างเป็นระบบ นวัตกรรมด้านต่างๆ พัฒนาขึ้นอย่างจำกัดมากขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่าเอไอ (Artificial Intelligence : AI) ในยุคนี้ต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น การเงินจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนทุกวัยอีกต่อไปในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ต้องพบกับเทคโนโลยีการเงิน ที่ต้องใช้วินัยทางการเงินควบคุมปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ถึงเวลาหรือยังที่ผู้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา จะใส่ปลูกฝังเนื้อหา “การเงิน” ที่มากกว่าการบวก ลบ เงินทอน
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ยกแนวคิดของ PISA (Programme for International Student Associate) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ดำเนินการในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนด้านการเงินแก่เยาวชน โดยมีวิสัยทัศน์ว่า โรงเรียนการเงินไม่ได้เป็นเพียงการสอน แต่ช่วยให้เด็กพัฒนาเข็มทิศนำทางชีวิตของเขาได้ในโลกที่ซับซ้อน กำกวม และผันผวนมากขึ้น
...
ยุคของปัญญาประดิษฐ์เราต้องพัฒนาคนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ให้เป็นคนชั้นหนึ่ง ที่จะสามารถใช้งาน AI ได้อย่างรู้และเข้าใจ มีทักษะทางสังคม อารมณ์ ตระหนักถึงคุณค่าของคน
“ในอนาคต การตัดสินใจเรื่องการเงินจะมีมากขึ้นและซับซ้อนขึ้น จะต้องเข้าใจสินค้า และบริการทางการเงิน เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น และป้องกันตัวเองจากการถูกล่อลวงทางการเงิน เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็ต้องเรียนที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นในธุรกรรมทางการเงินต่างๆ"
"บางประเทศ คนรุ่นอนาคตต้องรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น กว่าผู้ใหญ่ยุคปัจจุบัน เช่น อายุที่ยืนขึ้น สวัสดิการที่ลดลง และความไม่แน่นอนของเงินที่จะใช้ภายหลัง ประกอบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเทคโนโลยี ภูมิอากาศ โรคระบาดร้ายแรง และ โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ งานที่เปลี่ยนไปใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น หมายถึงจะมีกลุ่มผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังด้วยการศึกษา รายได้ และความมั่งคั่ง เป็น 3 ปัจจัยหลักที่สัมพันธ์กับความรู้ทางการเงิน เพราะฉะนั้น พ่อแม่ที่มีฐานะยากจนก็จะสอนความรู้เรื่องการเงินให้กับลูกได้น้อยกว่าพ่อแม่ที่มีการศึกษาและฐานะดีกว่า การให้การศึกษาทางการเงินในระบบการศึกษาจึงอาจช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ได้”
เป็นไปได้ไหมว่า หลักสูตรการศึกษาของไทย จะเพิ่ม “ความรู้ทางการเงิน” ในโรงเรียน
ควรอย่างยิ่ง เพราะจริงๆ แล้วสมาคมนักวางแผนการเงิน และตลาดหลักทรัพย์พยายามผลักดันด้านการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติ 20 กว่าปีแล้ว เคยทำหลักสูตรเงินทองเป็นหนังสือชื่อ “เงินทองของมีค่า” ตั้งใจจะนำไปเป็นหลักสูตรในโรงเรียนตั้งแต่ ม.1 - ม.6 ได้มีการอบรมสอนครูในสังกัด กทม. ได้นำไปสอนในโรงเรียน กทม.อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในหลักสูตรทั้งประเทศ
...
การสอนเรื่อง "การเงิน" ในระดับชั้นเรียนต่างๆ ที่เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร
มุมมองการสอนเรื่องเงินจึงควรอยู่ในสถาบันการศึกษาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ติดตัว มาช่วยเหลือและแก้ปัญหาการเงินของครอบครัวได้ วิวรรณแนะนำการวางหลักสูตรการเงินพื้นฐานว่าควรจะมี 10 ข้อ ดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง อัตราดอกเบี้ยทบต้น เงินเฟ้อ เรียนรู้เพื่อรู้ว่าออมเงินเพื่ออะไร ออมก็คืออดที่จะใช้จ่ายในวันนี้ เพื่อใช้จ่ายในวันหน้า เช่น ออม 10 บาท แต่อัตราเงินเฟ้อ 10%
2. การออมเงิน และปัจจัยที่มีผลต่อปัจจัยของเงินออม ความสำคัญของการออมเพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อยามคับขันจะได้นำเงินออมออกมาใช้ หรือเงินออมยามไม่คาดฝัน
3. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุน และประเภทการลงทุนคร่าวๆ เรียนเพื่อให้รู้จักความเสี่ยงและผลตอบแทนแตกต่างกัน และการใช้บริการจัดการลงทุนผ่านมืออาชีพ เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4. สินเชื่อและการกู้ยืม ดอกหัก ดอกคงที่ วิธีการผ่อน ผ่อนลดต้นลดดอก ต้องรู้ไว้เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ และจะได้ไม่เข้าใจผิดๆ
5. บัตรเครดิต บัตรเดบิต สินเชื่อเช่าซื้อ และการค้ำประกันส่วนบุคคล บางทีเพื่อนมาให้ค้ำประกัน จะได้รู้ว่ามีผลต่ออนาคตอย่างไร
6. ความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง ลงทุนหลายๆ แบบเพื่อกระจายความเสี่ยง
7. การบริหารค่าใช้จ่าย และการพอเพียง ถ้าหาเงินได้มาก แต่วางแผนไม่เป็น ก็จะไม่มีเงินเก็บ เงินออม ถ้าไม่พอเพียง ก็ไม่ยั่งยืน
8. ทำบัญชีรับจ่าย จัดการคำนวณกำไร ขาดทุน อย่างง่ายๆ เป็นความรู้เบื้องต้น หลายครั้งที่พบว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้คำนวณจุดคุ้มทุน ขายของไปเหมือนจ่ายเงินให้ลูกค้าไปด้วย ทำให้ทำเท่าไรก็ไม่ลืมตาอ้าปาก ไม่เข้าใจการตั้งราคาขาย
...
9. การป้องกันตัวเองจากการหลอกลวงทางการเงิน เช่น เรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล จะได้ไม่เป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่
10. การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องสนใจใฝ่รู้ สิ่งใหม่ๆ ในโลกการเงิน รู้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ถ้าเราสงสัยเรื่องนี้ หลายครั้งคนเชื่อจากไลน์ เด็กควรรู้ว่าถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง ควรหาได้ที่ไหน และนำไปปรับประยุกต์ใช้
“การให้ความรู้ทางการเงิน” ควรเป็นวาระแห่งชาติ
วิวรรณกล่าวถึงหลักสูตรโรงเรียนการเงินไว้ว่า “ตลาดหลักทรัพย์เคยสร้างคู่มือและหลักสูตรสอนการเงินในโรงเรียนมาแล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบยกมาใช้ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลัก ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลว่าควรมีความเข้าใจในการจัดการหนี้ และการเงิน ก็ได้เริ่มสอนให้แก่เด็กๆ ในประเทศของตนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศกลุ่มที่เจริญแล้ว อาทิ สเปน จัดหลักสูตรการเงินในสถาบันการศึกษา 3 ช่วง ในปี 2008, 2013 - 2017, 2018 - 2021, โปรตุเกส เริ่มในปี 2011, อินโดนีเซีย จัดหลักสูตรในปี 2013 - 2014, เอสโตเนีย จัดหลักสูตรการเงินในแผนยุทธศาสตร์ ในปี 2013-2020, แคนาดา แต่งตั้ง Financial Literacy Leader เป็นเวลา 5 ปี ตั้งเป้าหมายให้ความรู้แก่ชาวแคนาดามากขึ้น เพื่อจัดการหนี้ได้ดีขึ้น รัสเซีย ออสเตรเลีย และเปรู ก็เริ่มในปี 2018
...
สำหรับประเทศไทยเด็กไทยหลายคน เก่งเรื่องบัญชี และการจัดการ สิ่งที่ควรปลูกฝังให้เข้าใจง่าย ควรเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับประถมฯ ซึ่งเป็นวัยที่ควรเรียนรู้เรื่องเงินก่อน เรื่องว่าเงินเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน และบางอย่างแลกกันเองโดยไม่ต้องใช้เงิน หรือไม่ก็ต้องเป็นตัวกลางทางการหาเงิน พอขึ้นมัธยม ค่อยลงรายละเอียดในการเปรียบเทียบการเช่าซื้อ เช่น บ้าน รถ การใช้บัตรเครดิต
สิ่งที่พบในปัจจุบันคือ บางคนจบการศึกษาในระดับชั้นสูงๆ แต่ก็ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสิ่งจูงใจเป็นเงินตอบแทนสูง ถ้าผู้นั้นมีพื้นฐานความรู้ทางการเงินรอบด้านจะรู้ทันมิจฉาชีพ"
การเงินเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังเช่นเดียวกับ ดนตรี กีฬา และงานศิลปะ เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นของทุกคน และควรเป็นสิ่งที่ต้องสอนกันจริงจังในสถานศึกษา เด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการเงิน ก็จะไม่ถูกใครหลอกลวงและเอาเปรียบ และมีบทบาทช่วยขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมได้ทีละเล็กทีละน้อย
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun