ช่วงที่ผ่านมา 2-3 ปีมานี้ ผมเริ่มเห็นหลายคนสนใจในการลงทุน เนื่องจากเหตุผลสำคัญคือเรื่องการสร้างผลตอบแทนให้กับเม็ดเงินเพิ่มมากขึ้น ในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ
แน่นอนว่ากองทุนรวมถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการลงทุนที่มีมืออาชีพมาคอยจัดการ โดยนำเงินของเรานั้น ไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นเงินตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยบาทจนไปถึงเงินหลักหลายล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนรวมเหมาะสำหรับตั้งแต่มือใหม่ที่กำลังเริ่มต้นการลงทุน จนไปถึงนักลงทุนมือเก๋า นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ากองทุนรวมจำนวนหลายกองให้ผลตอบแทนที่ดีไม่น้อย
อย่างไรก็ดี แต่ก่อนที่เราจะลงทุนในกองทุนรวมนั้น เราควรทำความรู้จักกับปัจจัยสำคัญ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เพื่อทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ลดโอกาสที่จะสูญเสียผลตอบแทนในระยะยาวครับ
1. เข้าใจสินทรัพย์กับความเสี่ยง
ก่อนที่เราจะลงทุนในกองทุนรวมนั้นจะต้องเข้าใจถึงสินทรัพย์แต่ละชนิดที่เราจะลงทุนว่ามีข้อดีข้อเสีย รวมถึงความเสี่ยงต่างกันอย่างไร ไล่ตั้งแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำไปสูงคือ เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน หุ้นบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ทองคำ ซึ่งความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ไม่เท่ากัน และยังรวมถึงความผันผวนของราคา เช่น เงินฝากนั้นเราจะเห็นว่าความเสี่ยงที่เงินฝากจะทำให้สูญเสียผลตอบแทนนั้นโอกาสต่ำมากเมื่อเทียบกับหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ความผันผวนของราคา ส่งผลทำให้มีโอกาสที่จะให้สูญเสียผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบเงินฝาก
อีกเรื่องที่อยากจะเน้นย้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนมือใหม่ คือการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีการทำแบบประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุนในครั้งแรกในเวลาเปิดบัญชีลงทุนในกองทุนรวม ฉะนั้นเวลาทำแบบประเมินนั้นควรที่จะประเมินตามความเป็นจริง เพราะในแบบประเมินการลงทุนนั้นหลังจากที่เราประเมินเสร็จก็จะมีรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับเราจริงๆ
2. เข้าใจเรื่องเป้าหมายการลงทุนของตัวเราเอง
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของการลงทุนเลยทีเดียว เนื่องจากก่อนที่เราจะลงทุนเราต้องเข้าใจก่อนว่าเราลงทุนไปนั้นเพื่อจะนำเงินไปทำอะไร ยกตัวอย่างเช่น เก็บเงินไว้ใช้ยามชรา หรือนำเงินไปท่องเที่ยว
เราจะเห็นว่าจุดประสงค์การลงทุนนั้นจะถือว่าแตกต่างกัน ซึ่งถ้าหากเราเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่ เม็ดเงินดังกล่าวก็ควรที่จะลงทุนกับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้นต่างประเทศ เป็นต้น แต่ถ้าเราจะเก็บเงินไปท่องเที่ยว สินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนก็ควรจะเป็นสินทรัพย์ที่คุ้มครองเงินต้นของเรา เช่น เงินฝาก ซึ่งถ้าหากเราไม่เข้าใจเป้าหมายการลงทุนอาจก่อให้เกิดความผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อการลงทุน
3. เข้าใจสไตล์การลงทุนของกองทุนที่เราลงทุน
เมื่อเราพอเข้าใจเป้าหมายที่เราจะลงทุนแล้วนั้น ขั้นตอนนี้ก็คือการเลือกกองทุนที่เราจะลงทุน แม้ว่าแต่ละกองทุนจะลงทุนในสินทรัพย์เหมือนๆ กัน แต่แนวทางการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (หรือ บลจ.) ที่นำเงินเราไปบริหารเองนั้นก็อาจมีแนวทางแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเน้นการลงทุนระยะสั้นๆ ตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี ระยะกลางตั้งแต่ 3-5 ปี จนไปถึงระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ขณะที่บางกองทุน อาจมีเงื่อนไขไม่ให้เราสามารถขายหน่วยลงทุนกองทุนออกมา เช่น 3-6 เดือน ทำให้เราต้องนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาให้เหมาะสมกับการลงทุนของเราด้วยเช่นกันว่านโยบายการลงทุนของแต่ละแห่งนั้นเหมาะสมหรือไม่
นอกจากนี้ กองทุนบางกองทุน มีนโยบายจ่ายปันผลกำไรที่กองทุนทำได้ออกมา แต่บางกองทุนไม่จ่ายปันผลออกมา เพียงแต่จะนำเงินดังกล่าวกลับไปลงทุนอีกรอบ ซึ่งผู้อ่านจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับข้อมูลเงื่อนไขการลงทุนของแต่ละกองทุนเราสามารถอ่านได้จากสิ่งที่เรียกว่า “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เราต้องการจะลงทุนในกองทุนที่เราสนใจ
4. อย่าลืมตรวจสอบ “ค่าธรรมเนียมกองทุน” จุดชี้เป็นชี้ตายการลงทุน
เรื่องสำคัญไม่แพ้กันและจะมีผลชี้เป็นชี้ตายการลงทุนคือเรื่องของค่าธรรมเนียมกองทุนซึ่งอยู่ใน “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้กองทุนจะหักออกจากหน่วยลงทุน โดยค่าใช้จ่ายนี้จะนำไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งเป็นคนนำเงินของเราไปลงทุนนั่นเอง ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย ค่าธรรมเนียมการบริหาร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนายทะเบียนหรือผู้ดูแลผลประโยชน์
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของกองทุนเหล่านี้ก็จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของสินทรัพย์ จนไปถึงความซับซ้อนของกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งถ้าซับซ้อนมาก ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ก็จะแพงมากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยนั่งอ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของบางกองทุนในไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนหลายๆ กองทุนมีค่าธรรมเนียมกองทุนสูงมาก แต่ผลงานของกองทุนกลับทำได้น่าผิดหวัง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน บางกองทุนที่ค่าธรรมเนียมสูง แต่ทำผลงานได้ดีในหลายสิบปีเลยทีเดียวก็มี ซึ่งเราจะต้องอ่านรายละเอียดค่าธรรมเนียมของกองทุนให้ดี รวมถึงเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่กองทุนทำได้ กับดัชนีชี้วัดที่กองทุนนำมาเปรียบเทียบว่าผลงานของผู้จัดการกองทุนที่เรากำลังจะลงทุนนั้นดีแค่ไหน
ย้ำครับว่า อย่าปล่อยให้กองทุนที่ค่าธรรมเนียมแสนแพง แต่ผลงานของกองทุนที่สุดแสนจะย่ำแย่มาทำลายการลงทุนของคุณ เพราะเท่ากับว่าเรากำลังประเคนเงินให้กับผู้จัดการกองทุนที่ไม่เก่งครับ
5. อย่าลืมติดตามข่าวสารและตรวจสอบการลงทุนให้สม่ำเสมอ
แม้ว่าเราจะลงทุนในกองทุนรวมโดยที่มีมืออาชีพมาช่วยจัดการด้านการลงทุนแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีเราเองก็จะต้องหมั่นติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากเราลงทุนในกองทุนประเภทเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น น้ำมัน ทองคำ เพราะว่าสินทรัพย์เหล่านี้มีความผันผวนกับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
การติดตามข่าวสารการลงทุนเราอาจไม่ต้องถึงขั้นอ่านข่าวเศรษฐกิจหรือต่างประเทศแทบจะทุกวันก็ได้ครับ แต่อย่างน้อยๆ ถ้าหากเราลงทุนแล้ว ก็ควรจะติดตามอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยหลายแห่งมีการสรุปข่าวเศรษฐกิจ หรือปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนประจำสัปดาห์แบบสั้นๆ ไม่ยาวมาก เราควรเสียเวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
สำคัญอย่างมาก ถ้าหากเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เช่น หุ้นต่างประเทศที่ปัจจุบันกองทุนเหล่านี้กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในไทย ในแต่ละเดือนนั้นกองทุนเหล่านี้ มักจะมีบทสรุปการลงทุนของกองทุนที่ไปลงทุนว่าได้ลงทุนอะไรไปบ้าง หรือปรับพอร์ตการลงทุนอะไรไปแล้วบ้าง
การที่เราเข้าใจข่าวสารการลงทุนจะทำให้เราเข้าใจถึงภาพรวมการลงทุนที่ดี ส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนได้ดีมากขึ้น
ปัจจัยทั้งหมด 5 ข้อที่กล่าวมานั้นหวังว่าจะช่วยให้การลงทุนในกองทุนรวมของท่านเติบโตมากขึ้น และสนุกกับการลงทุนในกองทุนรวมที่ปัจจุบันมีหลากหลายสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศครับ
อ้างอิง
Economic Times
Investopedia
Treasurist
...