“คลอดธรรมชาติ-ผ่าคลอด” เป็นวิธีการคลอดลูกที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าจะเลือกเองไม่ได้ แต่ก็เตรียมความพร้อม รู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน โดยเข้าใจวิธีการของคุณหมอระหว่างทำคลอด นำเด็กออกมาอย่างปลอดภัย ลดความกังวลให้คุณแม่

คลอดธรรมชาติ-ผ่าคลอด ต่างกันอย่างไร

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่าปี พ.ศ. 2566 การคลอดเกิดขึ้นที่สถานพยาบาลร้อยละ 99.6 เนื่องจากประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยของมารดาและบุตร รวมถึงการสนันสนุนจากรัฐบาลให้ประชาชนมีสิทธิ์คลอดบุตรตามเกณฑ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างครอบคลุม

ในขณะเดียวกัน อัตราการคลอดของไทย เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะในช่วงโควิด อยู่ที่ร้อยละ 40.9 ถือเป็นอัตราผ่าคลอดที่สูงกว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืน เรื่อง การผ่าตัดคลอด ไว้ในฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 เน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สตรีตั้งครรภ์ทุกราย ถึงความเหมาะสม ประโยชน์ และความเสี่ยงที่จะได้รับจากกระบวนการผ่าคลอด การผ่าตัดคลอดควรดำเนินการในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่า ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรง ที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง

...

คลอดธรรมชาติ ควรรู้อะไรบ้าง

คลอดธรรมชาติเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกสนับสนุน ลดความเสี่ยงการเสียเลือดและการใช้ยาต่างๆ ระหว่างคลอด ร่างกายจึงฟื้นตัวได้เร็ว คุณแม่อุ้มลูกได้ตั้งแต่วินาทีแรกเมื่อลูกคลอด ลูกดูดนมแม่ได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก 

1. คลอดธรรมชาติมีกี่แบบ

คลอดธรรมชาติในประเทศไทย มี 2 แบบ ส่วนใหญ่คือการรอคลอดในโรงพยาบาล มีทีมแพทย์ทำคลอดคอยดูแล ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Natural Birth แต่มีการคลอดธรรมชาติอีกวิธีเรียกว่า Active Birth ทั้งสองเป็นการคลอดธรรมชาติเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเรื่องท่าคลอด และเทคนิควิธีการคลอด

1.1 คลอดธรรมชาติ (Natural Birth) 

คลอดธรรมชาติแบบทั่วไป หญิงตั้งครรภ์เมื่อมีอาการเจ็บเตือน ก็เข้าไปประเมินกับทีมแพทย์ เมื่อแพทย์ให้รอในห้องรอคลอด คุณแม่ต้องเปลี่ยนชุดเสื้อผ้า นอนรอบนเตียง ขณะคลอดยกลำตัวตั้งตรง มีทีมพยาบาลผดุงครรภ์ช่วยดูแลระหว่างคลอด และแพทย์ทำคลอดจะเช็กขนาดปากมดลูก อาจช่วยกรีดช่องคลอด บางกรณีมีการใช้ยากระตุ้นปากมดลูก และยาอื่นๆ 

1.2 คลอดวิถีธรรมชาติ (Active Birth)

คลอดวิถีธรรมชาติ แบบที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Active Birth เป็นการคลอดในท่าที่คุณแม่สะดวก โดยไม่ใช้ยาลดความเจ็บปวดกับมารดา มีอุปกรณ์ช่วยบรรเทาอาการเจ็บครรภ์ เช่น แช่อ่างน้ำอุ่น นั่งบนลูกบอลโยคะ ดึงเชือก พยุงเสา ช่วยให้คุณแม่ลดอาการเจ็บปวดขณะอุ้งเชิงกรานขยาย พร้อมคลอด 

2. ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ แบ่งคร่าวๆ ได้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. เจ็บท้อง 2. เบ่งคลอด และ 3. คลอดรก อาการเตือนก่อนคุณแม่จะคลอดธรรมชาตินั้น จะมีอาการปวดหลัง ปวดเตือน เจ็บท้องเตือน มีน้ำหรือเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด ปากมดลูกจะเปิดตั้งแต่ 1-10 เซนติเมตร ระหว่างนั้นให้รีบไปโรงพยาบาล 

การคลอดธรรมชาติ ลูกคนแรกอาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง คนต่อมาอาจใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเจ็บท้องมาที่โรงพยาบาลแล้ว คุณหมอจะตรวจอาการคุณแม่ว่าสามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยภายใน 2 ชั่วโมงหรือไม่ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะจัดห้องรอคลอดไว้ชั้นเดียวกับห้องผ่าตัด เผื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ดูแลคุณแม่และทารกแรกเกิดได้อย่างปลอดภัย

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ

  • 1. เจ็บท้อง ปากมดลูกเปิด

คุณแม่ที่มีอาการเจ็บท้องเตือน บางคนไม่รู้ตัวว่าใกล้คลอดแล้ว อาการเจ็บท้องเตือนคือมดลูกบีบตัวถี่ขึ้น ช่วงที่ใกล้คลอดที่สุดจะมีลักษณะกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ปัสสาวะบ่อย ท้องเสียบ่อย รู้สึกเหมือนอยากเข้าห้องน้ำ และอาการที่ชัดเจนที่สุดว่าจะคลอดแล้วคือมีน้ำเดิน น้ำหรือเลือดไหลออกมา ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน

เมื่อถึงโรงพยาบาล พยาบาลจะใช้สายวัดท้อง แปลเสียงสัญญาณเป็นกราฟ สังเกตอาการอยู่ 30 นาที - 1 ชั่วโมง เพื่อความชัดเจน หากแพทย์พิจารณาว่าต้องเข้าห้องคลอด ก็จะต้องอาบน้ำชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้า รอที่ห้องรอคลอด

คุณแม่นอนรอที่ห้องรอคลอด ครรภ์แรกใช้เวลารอปากมดลูกเปิดหมดราว 12 ชั่วโมง ครรภ์ต่อไปใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ระหว่างรอหากปากมดลูกเปิดไม่หมด แพทย์จะเข้ามาประเมินอาการและแนะนำวิธีช่วยเหลือต่อไป

  • 2. เบ่งคลอด

คุณแม่เข้ารอที่ห้องรอคลอด ระหว่างนั้นสังเกตอาการปากมดลูกเปิด เมื่อเปิดสุด 10 เซนติเมตร ถือว่าพร้อมที่จะคลอด ระยะเวลาเบ่งคลอด 1-2 ชั่วโมง จะรู้สึกว่ามีลมเบ่งอยู่ในท้อง ทีมช่วยคลอดจะช่วยดันหลังคุณแม่ ช่วยกดท้อง เด็กที่อยู่ในท่าศีรษะลงก็จะคลอดศีรษะออกมาก่อน ต่อมาจะเป็นช่วงไหล่ ลำตัว และขา แพทย์ พยาบาล จะช่วยดูไม่ให้รกพันศีรษะ คอยช่วยเหลืออื่นๆ

...

  • 3. คลอดรก

ภายหลังเด็กคลอดออกมาแล้ว ร่างกายของคุณแม่จะอ่อนล้า สูญเสียเลือด เป็นระยะเวลาที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด เพื่อที่จะขับรกออกมา การคลอดรกเกิดจากการคลอดทารกแล้ว 5-30 นาที

  • 4. มดลูกหดตัว

ภายหลังคลอดรก 2 ชั่วโมง มดลูกจะหดตัว บีบเลือดและของเสียออกมา พยาบาลจะช่วยกดหน้าท้องให้เลือดไหลออกมา คุณแม่นอนในห้องสังเกตอาการ

3. คลอดธรรมชาติต้องกรีดช่องคลอดไหม

สาวๆ ที่มีคำถามว่า คลอดธรรมชาติต้องกรีดช่องคลอดไหม ขึ้นอยู่กับตอนคลอด คุณแม่บางคนสามารถคลอดได้เองโดยแพทย์ไม่ต้องช่วยกรีดฝีเย็บ และรอให้แผลสมานปิดเองโดยไม่ต้องเย็บกลับ บางคนก็ต้องอาศัยการตัดฝีเย็บช่วย และเย็บกลับ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน

4. คลอดธรรมชาติพักฟื้นกี่วัน 

แพ็กเกจคลอดธรรมชาติตามโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบัน อยู่ที่ 3 วัน 2 คืน คุณแม่จะได้พักฟื้นที่โรงพยาบาล 2 คืน หลังจากนั้นกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ขณะอยู่ในโรงพยาบาล แพทย์และเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ จะช่วยดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี รวมถึงกุมารแพทย์คอยตรวจสอบ ประเมินร่างกายของเด็กแรกเกิดด้วย

5. คลอดธรรมชาติฟื้นตัวเร็วกว่าผ่าคลอดจริงไหม

คลอดธรรมชาติ จะมีฮอร์โมนจากร่างกายทำให้แม่ฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าคลอด และเป็นการฟื้นตัวจากความเจ็บปวดต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านการใช้ยาต่างๆ หลังคลอดธรรมชาติ หากลูกได้ดูดนมแม่ในชั่วโมงแรก ร่างกายของแม่จะสร้างฮอร์โมนโปรแลคติค ผลิตน้ำนมออกมาเรื่อยๆ ลูกได้อาหาร และแม่ลดความเจ็บปวด

ผ่าคลอด ควรรู้อะไรบ้าง

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้อัตราการผ่าคลอดในแต่ละประเทศไม่ควรเกิน 15% การผ่าคลอดควรเกิดจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ทารกตัวใหญ่, ท่าของเด็กผิดปกติ, เด็กมีภาวะขาดออกซิเจน, แม่มีภาวะแทรกซ้อน, เด็กตัวใหญ่ ฯลฯ

...

1. ผ่าคลอดมีกี่แบบ

ถ้าแบ่งตามลักษณะแผล ผ่าคลอดมี 2 แบบ คือ การผ่าคลอดแนวขวาง กับการผ่าคลอดแนวยาว ผ่าคลอดภาษาอังกฤษคือ Caesarean section หรือ Cesarean section (c-section) แปลว่าการผ่าตัดนำเด็กออกมาจากทางหน้าท้อง แต่หากแบ่งตามการลงมีด ก็แบ่งแบบอื่นๆ ได้อีก

ปัจจุบันไม่นิยมผ่าคลอดแนวยาว เพราะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ทั้งการเสียเลือด และการแตกของมดลูกในท้องถัดไป

2. ผ่าคลอดได้ตอนกี่สัปดาห์

การคลอดที่เหมาะสมอยู่ที่ 38-39 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะที่ต้องคลอดก่อนกำหนด หรือหลังกำหนดคลอด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและให้คำปรึกษากับคุณแม่อย่างใกล้ชิด ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้กำหนดคลอดจากคุณหมอมาแล้ว ระหว่างตั้งครรภ์หากมีอาการผิดปกติ ปวดท้อง ลูกดิ้นน้อยลง ก็ต้องไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันฝากครรภ์หรือวันกำหนดคลอด

3. ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที

ระยะเวลาผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที หากไม่นับช่วงงดน้ำงดอาหาร ผ่าคลอดใช้เวลา 30-60 นาที โดยมีขั้นตอนการดมยาสลบ กรีดหน้าท้อง

ขั้นตอนการผ่าคลอด

  • 1. งดน้ำงดอาหาร

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการคลอดแล้ว คุณหมอจะให้คุณแม่งดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมง ก่อนคลอด

  • 2. สวนทวาร

เมื่องดน้ำงดอาหาร ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะได้รับการสวนทวารก่อนผ่าคลอด เพราะการปวดท้องคลอด เด็กจะกดทับลำไส้ มีการเบ่งของเสียออกมา กรณีที่มีข้อบ่งชี้แล้วว่าต้องผ่าคลอด จะต้องสวนทวารเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอุจจาระ 

  • 3. ทำความสะอาดผิวหน้าท้อง

ทีมผดุงครรภ์จะโกนขนทำความสะอาดหน้าท้อง เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับผ่าตัดนำเด็กออกจากหน้าท้อง

...

  • 4. ดมยาสลบ หรือบล็อกหลัง ลดความเจ็บปวด

ขั้นตอนการใช้ยาลดความเจ็บปวด จะมีวิสัญญีแพทย์และทีมพยาบาลตรวจสอบดูระดับออกซิเจน และควบคุมการจ่ายยาสู่ร่างกายคุณแม่ ตามวิธีการที่เหมาะสม ผู้ที่ผ่านการบล็อกหลัง คุณหมอจะตรวจสอบอาการชา เพื่อความมั่นใจก่อนลงมีด

  • 5. ผ่าคลอดนำเด็กออกมาจากหน้าท้อง

คุณแม่จะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ คุณหมอจะผ่าตัดนำเด็กออกทางหน้าท้อง มีคุณหมอผู้ช่วย และทีมพยาบาล ช่วยดูแล ในขั้นตอนนี้ใช้เวลานำเด็กออกมาไม่นาน และหากมีการทำหมัน ตัดไส้ติ่ง ก็จะทำในขั้นตอนนี้ ก่อนปิดเย็บแผล

  • 4. เย็บแผล

เมื่อผ่าตัดเสร็จ คุณหมอจะเย็บแผล และนัดวันมาล้างแผล ตรวจสอบแผลต่อไป

4. ผ่าคลอดกี่ชั่วโมงเดินได้

ผ่าคลอดกี่ชั่วโมงเดินได้นั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและฟื้นตัวของคุณแม่แต่ละคน หลังจากผ่าคลอดเสร็จ คุณแม่จะต้องนอนอยู่ในห้องรอดูอาการก่อนที่จะส่งขึ้นไปพักในห้องพักฟื้น

บนห้องพักฟื้นจะยังไม่ให้ลุกจากเตียง ป้องกันการหกล้ม บาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว ระหว่างนี้คุณแม่จะปัสสาวะผ่านการสวน แต่ภายใน 1 วันแรก ควรจะลุกยืน เคลื่อนไหวเองให้ได้ เพื่อให้ลำไส้ทำงาน 

บางคนเดินได้ตั้งแต่วันแรก บางคนเดินได้ในวันที่ 2 หลังคลอด ระหว่างนี้ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดจะทุเลาลง และควรเริ่มให้นมลูกได้เร็วที่สุดเมื่อคุณแม่พร้อม

5. ผ่าคลอดพักฟื้นที่โรงพยาบาลกี่วัน

ส่วนใหญ่แพ็กเกจผ่าคลอดโรงพยาบาลต่างๆ ในการผ่าคลอดพักฟื้นที่โรงพยาบาล 4 วัน 3 คืน แต่ก็มีกรณีที่คุณแม่ยังไม่พร้อมกลับบ้าน การออกจากโรงพยาบาลเร็วหรือช้ากว่าวันที่แพ็กเกจคลอดกำหนด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์

การผ่าคลอดถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการคลอดธรรมชาติ อาทิ

1. อัตราการเสียเลือดที่สูงกว่า

2. ปวดรอบแผล แม่ต้องขอยาแก้ปวด

3. อยู่โรงพยาบาลนาน ทำให้ฟื้นตัวเพื่อเลี้ยงลูกนานขึ้น

4. มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดธรรมชาติในท้องสอง จึงอาจต้องผ่าคลอดอีกในท้องถัดไป

5. มีผลข้างเคียงจากการรับยาสลบ

และหลังคลอดบางคนอาจมีภาวะที่เจ็บปวด หรือรู้สึกไม่เหมือนปกติที่เคยเป็น ซึ่งหากมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้ปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ เช่น

1. อาการปวดแผลไม่หาย ไม่ดีขึ้น
2. ปวดหลังต่อเนื่อง กินยาแก้ปวดไม่หาย
3. ชา ปวดเมื่อย อย่างต่อเนื่อง
4. ปัสสาวะขัด
5. ท้องผูก 

ฝรั่งเน้น “คลอดธรรมชาติ” ขณะที่คนไทยอัตรา “ผ่าคลอด” สูง

ข้อมูลจากตัวชี้วัดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันนี้มีอัตราการผ่าคลอดบุตร ในหญิงอายุ 15-49 ปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 40.9 เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 และร้อยละ 70.3 เป็นการคลอดซ้ำด้วยวิธีผ่าตัด

คลอดลูกอยู่โรงพยาบาลกี่วัน

แพ็กเกจคลอดของโรงพยาบาลต่างๆ สำหรับการคลอดธรรมชาติ และผ่าคลอด มีระยะเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ดังนี้

  • คลอดปกติ 3 วัน 2 คืน
  • ผ่าคลอดปกติ 4 วัน 3 คืน 

บางกรณีที่แม่หรือลูกมีภาวะที่ต้องอยู่ต่อ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าต้องอยู่ต่อหรือไม่ เช่น การเสียเลือด ติดเชื้อ เป็นต้น

สรุปแล้วการคลอดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด มีความปลอดภัยมากขึ้น การคลอดที่สถานพยาบาลเพิ่มอัตราการรอดของเด็กทารก ในโรงพยาบาลหากเด็กแรกเกิดมีความผิดปกติ ก็มีทีมแพทย์คอยดูแล ลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อม ก่อนคลอด คุณแม่ควรฝากครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกวิธีคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด

คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ต่างกันอย่างไร
คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ต่างกันอย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง 

1.  การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 สรุปตัวชี้วัดที่สำคัญ (มีนาคม 2566).,สำนักงานสถิติแห่งชาติ., nso.go.th

2. ประกาศจุดยืน เรื่อง การผ่าตัดคลอด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566) https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2159871

3. กรมอนามัย หนุนหญิงท้องคลอดธรรมชาติ สร้างความผูกพันนาทีแรก‘แม่อุ้มลูก – ดูดนมจากเต้า’ได้ทันที., https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/news041062

4. Pregnancy – labour.,https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/pregnancy-labour

5. Cesarean section., https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/caesarean-section

6. การผ่าตัด Cesarean section., สูติศาสตร์ล้านนา., https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/faculties/student-extern-intern/extern-intern-corner/learning-manual-for-extern/4645