เมื่อเด็กยังไปโรงเรียนไม่ได้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก และผู้ปกครองส่วนหนึ่งต้องดูแลบุตรหลานไปพร้อมๆ กับการ Work from Home เด็กเล็ก และเด็กโตต่างก็หากิจกรรมทำเพื่อพัฒนาทักษะรอบด้านที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ เผยวิธีเสริมทักษะเมื่อเด็กต้องเรียนรู้อยู่ที่บ้าน
“อยากให้พ่อแม่ และผู้ปกครอง ปรับทัศนคติที่มองว่าการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ เป็นการเพิ่มภาระให้ต้องดูแลบุตรหลานมากขึ้น แต่ให้มองเชิงบวกว่าเป็นโอกาสทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากการเรียนที่บ้านทำให้เด็กมีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ พ่อแม่สามารถปรับวิธีการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตัวเด็กได้เอง โดยไม่ต้องยึดติดกับแบบแผนเหมือนเรียนที่โรงเรียน และการจัดตารางเวลาให้ชัดเจน แบ่งแยกเวลาส่วนตัวเพื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่”
...
เมื่อเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ภาระการดูแลก็ต้องอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งหมด และเด็กอาจรู้สึกถูกจำกัดพื้นที่ภายในบ้าน จากที่เคยได้วิ่งเล่น และทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการบางอย่าง
พาลูกเข้า “ห้องครัว” พื้นที่เรียนรู้ฝึกทักษะรอบด้าน
ในช่วงที่ผู้ปกครอง Work from Home คุณพ่อ หรือคุณแม่ รับผิดชอบการทำอาหาร ควรปรับเปลี่ยนห้องครัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เด็กๆ จะได้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง และมีความรับผิดชอบ โดยมอบหมายให้เตรียมวัตถุดิบง่ายๆ ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย การทำอาหารจะช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เรียนรู้วิธีการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) และควบคุมตนเอง (Self-Control) พร้อมทั้งได้โต้ตอบกับพ่อแม่ ถือว่าเป็นการใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัว นอกจากนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้การสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง (Self-Image) ผ่านชุดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันที่เหมาะสมกับกิจกรรม เช่น การเข้าครัวต้องสวมผ้ากันเปื้อน เพื่อป้องกันคราบสกปรก
เด็กๆ จะได้เลือกอาหาร และเรียนรู้วิธีการกินที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการจากวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร เช่น ผักแบบไหนที่มีวิตามินดี ช่วยบำรุงสายตา รวมถึงวิตามินซี ที่ป้องกันโรคหวัด ที่พบได้ในผลไม้มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง บร็อกโคลี
การ “เข้าครัว” เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทั้งการหยิบจับ สังเกตรูปทรง และชิมรสชาติ คุณพ่อคุณแม่สามารถมอบหมายขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก เช่น ช่วยเก็บผัก ล้างผัก เลือกเนื้อสัตว์ คิดเมนูอาหาร ส่วนวิธีการที่ใช้ความระมัดระวัง เช่น การต้มน้ำ การหั่นผัก ก็ช่วยกำกับ หรือทำแทนเด็กๆ
สุดท้ายชิ้นส่วนที่เหลือทิ้งจากการประกอบอาหาร เช่น ราก หรือ หัวของผัก ก็นำมาปลูกใหม่เพื่อใช้ได้อีกในอนาคต ถือเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของพืชผัก ช่วยดึงความสนใจของเด็กออกจากหน้าจอ ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อเป็นพื้นฐานในการเลี้ยงลูกเชิงบวก และเด็กๆ ก็จะภูมิใจกับมื้ออาหารที่ตนเองทำ ลดปัญหาเด็กกินยากอีกด้วย.