• เมื่อข่าวคราวจากโควิดนั้นชวนให้เครียดอยู่แล้ว ทั้งยังต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ภายในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อกันหลายๆ วัน จนเริ่มเห็นจุดบกพร่องของคนใกล้ตัวในมุมที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ความอึดอัดจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และเมื่อสภาพจิตใจย่ำแย่ สภาพอารมณ์ไม่คงที่ มันจึงเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวกระทบกระทั่งกันง่ายขึ้น

  • ว่าแล้วก็ลอง ‘เปิดใจ’ ทำความเข้าใจมุมมองของแต่ละคนในครอบครัวดู โดยเริ่มจากการยอมรับว่า เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องรู้สึกวิตกกังวล และในเมื่อตัวเรายังเครียด คนอื่นๆ ในครอบครัวก็อาจมีความเครียดเช่นเดียวกัน

  • เราจึงต้องค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมใช้ ‘การสื่อสารเชิงบวก’ เพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว


ระลอกหนึ่งก็แล้ว ระลอกสองก็มี ลากยาวมาจนถึงระลอกสี่ เราใช้ชีวิตแบบปิดๆ เปิดๆ (ตามคำสั่งรัฐ) กับโควิด-19 มาเกือบจะสองปีแล้ว ยิ่งปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทุกวัน จนมีแนวโน้มว่าอาจต้องถูกสั่งล็อกดาวน์ต่อไปยาวๆ และเผลอๆ เด็กไทยก็อาจต้องเรียนออนไลน์ไปอีกตลอดทั้งปีการศึกษา

เมื่อข่าวคราวจากโควิดนั้นชวนให้เครียดอยู่แล้ว ทั้งยังต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ภายในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกันหลายๆ วัน จนเริ่มเห็นจุดบกพร่องของคนใกล้ตัวในมุมที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ความอึดอัดจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และเมื่อสภาพจิตใจย่ำแย่ สภาพอารมณ์ไม่คงที่ มันจึงเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวกระทบกระทั่งกันง่ายขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรทำอย่างไร จึงจะไม่สติแตกใส่คนใกล้ตัวไปเสียก่อน?


โควิด-19 กับความเครียด

...

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผู้คนในหลายระดับ

ในแง่สุขภาพจิตของประชาชน พบว่ามีอัตรา ‘ความเครียด’ และ ‘ความวิตกกังวล’ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้มาตรการการล็อกดาวน์ (Lockdown) ที่จำกัดการทำกิจวัตรประจำวันตามปกติของคนหมู่มาก ก็ยิ่งส่งผลให้ระดับความเครียด, ความรู้สึกซึมเศร้า, ความโดดเดี่ยว, ฯลฯ สูงขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่คนจะหันมาติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-สารเสพติด หรือมีโอกาสทำร้ายตัวเองและถึงขั้นฆ่าตัวตายได้อีกด้วย

เมื่อความเครียดจากสถานการณ์ในสังคม บวกกับการต้องอยู่ติดบ้านนานๆ ทำให้แทนที่ในช่วงเวลาที่มีเพิ่มขึ้น เราจะได้มีโอกาสผ่อนคลาย แต่มันกลับทำให้หลายคนรู้สึกอ่อนล้าและอึดอัด

ไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สำหรับเด็กๆ ที่ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนเพื่อปลดปล่อยพลังงานเหมือนเคย ก็อาจมีอาการวิ่งวุ่น ซุกซน หรืองอแง จนทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่หงุดหงิด เกิดการปะทะอารมณ์ในครอบครัวกันได้


ยิ่งใกล้กัน ...ยิ่งไม่ไหว

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบครัวเรือนในบ้านเรา ส่วนมากยังเป็น ‘ครอบครัวใหญ่’ ที่มีทั้งพ่อ-แม่-ลูก, ปู่-ย่า-ตา-ยาย, พี่-ป้า-น้า-อา และสภาพความเป็นอยู่ตามปกติ ก็อาจไม่ได้มีการแบ่ง ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของแต่ละคนอย่างชัดเจน

ด้วยพื้นที่ที่มีจำกัด จึงอาจทำให้พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home), ลูกเรียนออนไลน์ และญาติผู้ใหญ่ดูละคร อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน

การขาดความเป็นส่วนตัวส่งผลต่อการมีสมาธิจดจ่อ ยิ่งหากแต่ละคนยืนยันที่จะทำตามใจตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นของสมาชิกครอบครัวคนอื่น ก็อาจทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนผิดใจกันได้

สาเหตุอีกประการที่ทำให้คนในบ้านทะเลาะกัน คือการ ‘ไม่ชิน’ ที่ต้องอยู่บ้านติดต่อกันนานๆ จากที่เคยออกไปทำงานข้างนอก และแต่ละคนต่างได้มีเวลาส่วนตัวในการพูดคุยกับเพื่อน แวะซื้อของ หรือทำธุระต่างๆ ก็กลายเป็นว่าต้องอยู่บ้านเกือบ 24 ชั่วโมง ต้องกินข้าวที่บ้าน 3 มื้อ

ยิ่งสำหรับพ่อแม่แล้ว นอกจากต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง ก็ยังต้องดูแลลูกแทบตลอดเวลาด้วย ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น แม้จะอยู่บ้านก็ตาม

สื่อสารอย่างไร ไม่สร้างความขัดแย้ง

การรับมือกับโรคระบาดที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดวันไหน วัคซีนจะมาอีกเมื่อไร ก็เครียดพอแล้ว หากยังต้องมานั่งทะเลาะกับคนใกล้ตัวทุกวันก็คงไม่ไหว แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่หากเกิดซ้ำๆ ทุกวัน ก็สามารถบั่นทอนสุขภาพจิตได้ไม่น้อย

ว่าแล้วก็ลอง ‘เปิดใจ’ ทำความเข้าใจมุมมองของแต่ละคนในครอบครัวดู เพราะขึ้นชื่อว่าสายเลือดเดียวกันแล้ว อย่างน้อยการกระทำส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากความหวังดี แต่อาจเพราะความเครียด อารมณ์ชั่ววูบ หรือการขาดทักษะการสื่อสารที่ดี จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

การสร้างความเข้าใจอาจต้องเริ่มจากการยอมรับว่า เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องรู้สึกวิตกกังวล และในเมื่อตัวเรายังเครียด คนอื่นๆ ในครอบครัวก็อาจมีความเครียดเช่นเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ เพียงแค่แต่ละคนอาจมีวิธีแสดงออกที่ต่างกันไป เราจึงต้องค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมใช้ ‘การสื่อสารเชิงบวก’ เพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว

เริ่มต้นด้วยการสื่อสารโดยใช้วิธี I-Message คือแทนที่จะชี้นิ้วไปที่พฤติกรรมของอีกฝ่าย ควรเปลี่ยนเป็นบอกความรู้สึกของเราออกไป โดยลองเปรียบเทียบจากสองประโยคต่อไปนี้

...

1) “ฉันไม่ค่อยมีสมาธิทำงานเลย คุณช่วยหรี่เสียงทีวีหน่อยได้ไหม”

2) “โอ๊ย คุณเปิดทีวีดังเกินไป ฉันทำงานไม่ได้เลย”

ในประโยคแรกคือการสื่อสารแบบ I-Message เพื่อบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร และต้องการให้อีกฝ่ายทำอะไร ขณะที่ประโยคที่สองฟังดูเหมือนเป็นการตำหนิพฤติกรรมของอีกฝ่าย และไม่ได้บอกว่าเราต้องการให้เขาทำอะไร

ดังนั้น ความรู้สึกของผู้ที่ได้ฟังประโยคแรก จะรู้สึกว่าอีกฝ่ายกำลังขอร้อง ขณะที่ในประโยคที่สอง ผู้ฟังจะรู้สึกว่าตนกำลังถูกตำหนิ ซึ่งอาจทำให้เกิดการโต้เถียงจนทะเลาะกันได้

ขั้นต่อมา หากอีกฝ่ายตอบสนองด้วยดี ควรกล่าวคำขอบคุณ ยกตัวอย่างเช่น “ขอบคุณนะที่หรี่เสียงทีวีให้ ฉันทำงานได้เร็วขึ้นมากเลย” ซึ่งการให้แรงเสริมทางบวกเช่นนี้ ช่วยให้คู่สนทนารู้สึกว่าคุณซาบซึ้งในการกระทำของเขา

การเห็นคุณค่าของกันและกันแม้ในสิ่งเล็กน้อย สามารถช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

นอกจากนี้ การใช้คำพูดให้ชัดเจนและเจาะจงในเรื่องที่ต้องการสื่อสาร ก็จะช่วยลดความเข้าใจผิดได้ เช่น หากลูกขอให้ช่วยตรวจการบ้าน แทนที่จะบอกว่า “รอเดี๋ยว” ควรบอกว่า “ขอแม่ทำงานอีก 30 นาทีแล้วจะดูให้นะ”

และหากเป็นไปได้ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการพูดจาประชดประชัน, การเงียบไม่ตอบสนองเมื่อรู้สึกไม่พอใจ หรือการใช้คำพูดในเชิงตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา


เล็กๆ น้อยๆ เราก็ยอมกันไป

คนในครอบครัวอาจเปรียบเสมือน ‘ลิ้น’ กับ ‘ฟัน’ ยิ่งอยู่ด้วยกันนานๆ ก็มีโอกาสกระทบกระทั่งเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังต้องอยู่ด้วยกัน

หากความขัดแย้งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินไป บางครั้งการยอมลดราวาศอกให้กันบ้าง ก็อาจคุ้มค่ากว่าที่จะต้องสูญเสียความรู้สึกดีๆ ต่อกันไป

...

อย่ามัวแต่เครียด หงุดหงิด และคอยจับผิดคนใกล้ตัว จนลืมไปว่า ท่ามกลางโรคระบาดนี้ หลายคนไม่มีแม้โอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัว เพราะต้องทำงานหนัก, หลายคนเจ็บป่วย ขณะที่ไม่รู้จะได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้งเมื่อไหร่, หลายคนสูญเสียคนที่รักไป โดยไม่ได้ร่ำลา, ฯลฯ

บางที หากเราตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตคืออะไร หรือใครคือคนที่เราห่วงใยบ้าง เรื่องราวบาดหมางทั้งหมดในครอบครัวก็อาจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินกว่าจะเก็บมาใส่ใจ

เพราะชีวิตคนเรามันสั้นเกินกว่าจะเสียเวลามาทะเลาะกัน


อ้างอิง: Euro.who.int