- การใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่ถูกต้องอาจสร้างปัญหาให้กับตัวเด็กเองรวมถึงครอบครัว เช่น อาจเกิดการติดเกม ติดจอ หรือมีอาการป่วยทางจิตได้
- การเสพติดสื่อออนไลน์ อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า โรคเครียด ขาดสมาธิ ขาดความรับผิดชอบในการทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย
- หากไม่อยากให้ลูกติดสื่อออนไลน์ ต้องพยายามจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กโดยกำหนดให้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน หาเวลาสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น
ปัจจุบันสื่อออนไลน์กลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มมาในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนไปแล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ พฤติกรรมของทุกคนจึงมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป มีการติดจอ ติดการใช้สื่อจากสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งหมายรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) อย่าง Facebook, Twitter, Instagram และอื่นๆ ด้วย การที่เราเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้น ทำให้หลายคนมีความเสี่ยงที่จะเสพติดสื่อเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะวัยเรียน วัยรุ่น เพราะเข้าถึงได้รวดเร็วทันใจ ตอบโจทย์ชีวิตยุคปัจจุบันได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือจะต้องเสพติดสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียทั้งหมด การจะติดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล รวมถึงการอบรมสร้างวินัยการใช้ internet ของผู้ปกครองให้กับเด็กๆ เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมมากกว่า
...
6 สัญญาณการติดสื่อโซเชียล / สื่อสังคมออนไลน์
- อยู่กับโซเชียลมีเดียนานติดต่อกันหลายชั่วโมง
- ถือโทรศัพท์และเปิดดูเว็บหรือคลิปทั้งวัน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม
- เมื่อไม่ได้ใช้สื่อเหล่านี้จะรู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด
- พยายามที่จะควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของตัวเอง แต่ไม่สามารถควบคุมได้
- ชอบใช้โซเชียลมีเดียเพื่อคลายเครียด
- สำหรับเด็กในวัยเรียนหรือวัยรุ่น จะมีพฤติกรรมชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง และอาจมีพฤติกรรมโกหกหรือปิดบัง เพื่อที่จะได้เล่นโซเชียลมีเดียได้มากขึ้น
สัญญาณเหล่านี้เป็นการเตือนว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้าครอบงำชีวิตประจำวัน และหากใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียให้เกิดปัญหาทางการเรียน การทำงาน เกิดปัญหากับเพื่อน และเกิดปัญหาในครอบครัวได้ หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการป่วยทางจิตได้เช่นกัน ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาด้านอาชญากรรม ความรุนแรงทางเพศต่างๆ ได้ในท้ายที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่เด็กๆ ติดเกม ติดสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เพราะได้เห็นตัวอย่างหรือรับแรงกระตุ้นที่ผิด หรือการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่ได้รับการควบคุมดูแลจากผู้ปกครองหรือคนรอบกายในทางที่เหมาะสมและควรจะเป็น
โรคทางกายที่เกิดการเสพติดสื่อโซเชียล
- โรคอ้วน เกิดจากการไม่ยอมไปไหน นั่ง กิน นอน ไม่ทำอะไรนอกจากดูสื่อออนไลน์ หรือตั้งหน้าตั้งตารอที่จะถึงเวลาดู
- ภาวะซึมเศร้า โรคเครียด จากการหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอเกินไป
- หากอยู่ในวัยเรียน วัยรุ่น ก็จะมีเรื่องของการขาดสมาธิ ขาดความรับผิดชอบในการทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย
การป้องกันปัญหาการติดสื่อสังคมออนไลน์
- พยายามจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียให้ลดลงหรือกำหนดเวลาใช้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และอาจต้องมีการเตือนหรือควบคุมจากคนรอบข้างบ้างหากมีการใช้เกินเวลาที่กำหนด
- หากิจกรรมหรืองานอดิเรกอย่างอื่นทำ ที่สามารถให้ความสนุก ความเพลิดเพลินได้เช่นกัน เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
- จัดเวลาสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเพื่อนฝูง
เมื่อเริ่มคิดว่าตนเองหรือบุตรหลานมีอาการเข้าข่ายเสพติดสื่อออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Social Addiction แล้ว อาจลองปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้นดู แต่หากคิดว่าไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ พ่อแม่ควรรีบพาบุตรหลานเข้าพบและปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโดยเร็วที่สุด หากในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่ ควรนัดปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัย และให้การรักษาในลำดับต่อไป
บทความโดย : พญ. ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ด้านจิตวิทยาเด็ก ร.พ. เด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์