• โลกของเด็กที่เกิดหลังเดือนมีนาคม ปี 2563 คือโลกที่เต็มไปด้วยไวรัสร้ายและความวิตกกังวล ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ที่เรากำลังสร้าง ไม่ใช่เรื่องปกติในการเจริญเติบโตของเด็กๆ เพราะเด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้ถึง ‘สีหน้า’ และ ‘อารมณ์’ ของผู้ที่สนทนาด้วย ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเรียนรู้นี้ และอาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว

  • สำหรับเด็กในวัยเรียน การระบาดอันควบคุมไม่ได้ยังทำให้การเปิดภาคเรียนต้องถูกเลื่อน (อีกครั้ง) และยิ่งโรงเรียนปิดนานเท่าไร ไม่ใช่เพียงแค่เสียโอกาสการเรียนรู้ แต่เด็กส่วนใหญ่ยังเริ่ม ‘ลืม’ สิ่งที่พวกเขาศึกษามา เกิดเป็นสภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ยากจะแก้ไข

  • ในเมื่อเรายังต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤติที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร ในฐานะพ่อแม่ นอกจากต้องประคับประคองจิตใจไม่ให้หลุดลอยไปกับความเครียดแล้ว เราก็ ‘จำเป็น’ ต้องเปิดใจรับฟังลูก สังเกตและหาทางสร้างเสริมพัฒนาการให้ลูกเท่าที่ทำได้ และพร้อมให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆ เมื่อลูกต้องการเสมอ


ดูเหมือนว่าวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังคงยืดเยื้อและมองไม่เห็นปลายทางต่อไป เพราะขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งประกาศให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิ.ย. เป็นวันที่ 14 มิ.ย. 2564

ดูเหมือนคำกล่าวที่ว่า เวลาเดินเป็นวงกลม อาจเป็นความจริง เพราะหนึ่งปีผ่านไป เรากำลังวนลูปกลับมาที่เดิมอีกครั้ง

ภาพฉายซ้ำของช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว แวบเข้ามาในความคิด -- โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมครั้งแล้วครั้งเล่า, สถานดูแลเด็ก (Daycare) ถูกสั่งปิด, การกักตัว และการทำงานที่บ้าน ทุกอย่างวนซ้ำกลับมาจุดเดิม ...แต่เมื่อมองเด็กน้อยข้างกาย ถึงรู้ว่ามีบางสิ่ง ‘ไม่เหมือน’ ปีที่ผ่านมา

...

เด็กน้อยในวันนี้ สูงขึ้นกว่าปีก่อน พูดจาฉะฉานคล่องแคล่วกว่าตอนที่โควิดระบาดรอบแรก จริงอยู่ที่โรคระบาดทำให้โลกแทบหยุดชะงัก แต่การเติบโตของเด็กๆ กลับไม่มีวันหยุด เพราะพัฒนาการของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน

ขณะที่หลายคนกำลังวิตกกังวลกับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ, ปัญหาปากท้อง, การว่างงาน ฯลฯ ที่อาจวัดค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความเสียหายที่มองไม่เห็น (ทันที) ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบในระยะยาว นั่นคือ ‘โอกาสที่เสียไป’ ของเด็กๆ ที่กำลังเติบโต

รอยยิ้มใต้หน้ากากอนามัย กับความเสียหายที่(ยัง)มองไม่เห็น

โลกของเด็กที่เกิดหลังเดือนมีนาคม ปี 2563 คือโลกที่เต็มไปด้วยไวรัสร้ายและความวิตกกังวล หากคุณคลอดลูกในช่วงที่โควิดระบาดรอบแรก ทารกแบเบาะวันนั้น ขณะนี้จะมีอายุ 1 ปี เป็นหนูน้อยที่กำลังหัดเดิน-หัดพูด ซึ่งขวบปีแรกของชีวิต เป็น ‘เวลาทอง’ ของพัฒนาการ เพราะสมองของทารกจะเติบโตขึ้นเป็นสองเท่า ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมช่วงต้นของชีวิต ล้วนส่งผลต่อโครงสร้างสมองของทารก และด้วยการที่สมองต้องอาศัยประสบการณ์และสภาพแวดล้อมในการพัฒนานี่เอง ทำให้ทารกมี ‘การรับรู้ที่ไว’ อย่างมากต่อสภาพแวดล้อมเชิงลบ โดยเฉพาะความเครียดของพ่อแม่หรือผู้ดูแล

แม้ว่าโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาด ย่อมเกิดภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งอารมณ์เชิงลบเหล่านี้ ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว ทั้งพัฒนาการทางภาษา, สติปัญญา และพัฒนาการทางอารมณ์ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้ในอนาคต

‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ที่เรากำลังสร้าง ไม่ใช่เรื่องปกติในการเจริญเติบโตของเด็กๆ ข้อมูลจาก The Guardian นำเสนอมุมมองของ ลูซี คุณแม่ลูกสองในประเทศอังกฤษ ที่ลูกสาววัย 10 เดือนของเธอจะร้องไห้ทันทีหากมีคนสวมหน้ากากอนามัยมาคุยเล่นด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่ถอดหน้ากากอนามัยออก เด็กน้อยก็จะยิ้มออกมา นั่นเป็นเพราะเด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้ถึง ‘สีหน้า’ และ ‘อารมณ์’ ของผู้ที่สนทนาด้วย ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้นี้

แม้ว่าการสวมหน้ากากอนามัยคือสิ่งที่จำเป็นมากในยามนี้ แต่อีกด้านก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กๆ ด้วย เราจึงยังมีความหวังว่า วัคซีนจะสามารถเป็นทางออกของปัญหาได้ เพราะ ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ควรทำได้มากกว่าการป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก แต่ควรยับยั้งการระบาดใหม่ เพื่อให้สังคมปลอดภัยพอที่จะไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มองเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้คนในสังคมอย่างที่ควรจะเป็น

การเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นสิ่งที่ ‘รอ’ ไม่ได้

สำหรับเด็กในวัยเรียน แม้ภาครัฐจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว ละแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐจัดหามานั้น ยังคงมีคำถามเกิดขึ้นเป็นระยะ การระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้ ทำให้การเปิดภาคเรียนต้องถูกเลื่อน (อีกครั้ง)

ยิ่งการแก้ปัญหายืดเยื้อมากเท่าไร ความมั่นใจก็ยิ่งลดน้อยลง วันเวลาที่เสียไปคือโอกาสที่สูญหาย โอกาสที่เด็กๆ จะได้ใช้ชีวิตตามปกติ ออกไปเรียนรู้ตามวัย ให้สมกับพัฒนาการนั้น มีมูลค่าเกินกว่าจะประเมินราคา เพราะวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตที่ผ่านแล้วผ่านเลย และเมื่อก้าวข้ามจุดหนึ่งของพัฒนาการ การเรียนรู้ของพวกเขาก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

งานวิจัยเมื่อปี 2007 เกี่ยวกับผลกระทบของการปิดเรียนระยะสั้นเนื่องจากพายุหิมะในเมืองวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา พบว่า ระยะเวลาหยุดเรียนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน จะมีเด็กประมาณ 0.57% ทำคะแนนคณิตศาสตร์และการอ่านได้น้อยลง เมื่อโรงเรียนปิด 5 วัน ทำให้นักเรียนมีเกณฑ์สอบผ่านลดลง 3% หรือในห้องเรียนที่มีนักเรียน 30 คน มักจะมีเด็ก 1 คนสอบตก นั่นหมายความว่า การปิดเรียนเพียงระยะสั้นๆ ก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้

...

ดังนั้น ยิ่งโรงเรียนปิดนานเท่าไร ไม่ใช่เพียงแค่เสียโอกาสการเรียนรู้ แต่เด็กส่วนใหญ่ยังเริ่ม ‘ลืม’ สิ่งที่พวกเขาศึกษามา เกิดเป็นสภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ยากจะแก้ไข โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เด็กๆ ไม่สามารถออกไปพบเจอเพื่อนๆ ร่วมกลุ่มทำกิจกรรม, เพลย์กรุ๊ป, เรียนพิเศษ, ทัศนศึกษา ฯลฯ ซึ่งทำให้พลาดโอกาสนำสิ่งที่เรียนรู้มาไปใช้ต่อยอดและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ในสังคม

โอกาสที่ลูกๆ ต้องเสียไป ...พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง

ในเมื่อเรายังต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤติที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร ในฐานะพ่อแม่ นอกจากต้องประคับประคองจิตใจไม่ให้หลุดลอยไปกับความเครียดแล้ว มีอะไรที่เราพอทำได้บ้างในช่วงเวลานี้ ลองมาดูกัน

  • ประคองสติให้ดี แม้จะต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) และรับมือกับความเครียดรอบด้าน เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ในสถานการณ์นี้ไม่มีใครผิด อย่าระเบิดอารมณ์ใส่คนในครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็กๆ เพราะบางทีพวกเขาอาจเก็บความหวาดวิตกไว้ลำพัง โดยไม่ได้แสดงออก

  • เปิดใจรับฟังลูกเสมอ เพราะการเปิดใจรับฟังเด็กๆ โดยไม่ด่วนตัดสิน ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ครอบครัวให้แน่นแฟ้น ทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น และช่วยลดความวิตกกังวลของเด็กๆ ได้ แม้พ่อแม่อาจต้องทำงานหนักหรือมีความเครียดในช่วงนี้ แต่หากเป็นไปได้ ลองหาเวลาวันละไม่กี่นาที พูดคุยกับลูก ถามไถ่ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่มีคุณค่าทางใจมหาศาล

  • สังเกตพัฒนาการ สำหรับคนที่มีลูกเล็ก ลองสังเกตว่าลูกสนใจอะไร แม้เด็กๆ ไม่มีโอกาสไปเข้าเพลย์กรุ๊ป ก็ลองหยิบสิ่งใกล้ตัวมาประยุกต์เสริมสร้างพัฒนาการลูกไปพลางๆ เช่น ลูกโป่งใส่ทราย เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส หรือกองภูเขานุ่มนิ่มจากหมอน ให้ลูกได้ปีนป่าย

  • สำหรับลูกวัยเรียน ที่ต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจในการจัดสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้เท่าที่จะทำได้ จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำและแก้ปัญหาเมื่อลูกต้องการ

...

เคยมีคำกล่าวว่า สำหรับคนเป็นพ่อแม่ วันคืนแสนยาวนาน แต่หนึ่งปีนั้นแสนสั้น เพราะทุกๆ วันที่เราอยู่กับลูก มีเรื่องชวนวุ่นวายไม่จบสิ้น แต่เมื่อครบหนึ่งปี แล้วมองย้อนกลับไป เด็กๆ กลับโตวันโตคืนอย่างรวดเร็ว ขณะที่เรากำลังพยายามเอาชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤติที่ยาวนาน โรคระบาดและการรับมือที่ยืดเยื้อ ก็อาจทำให้เด็กๆ เสียโอกาสการเรียนรู้ไปตลอดกาล

แต่สุดท้ายแล้วคงไม่มีการเสียโอกาสใด ที่จะสร้างบาดแผลในใจลูกได้ลึกยิ่งกว่าการเสียโอกาสที่จะได้รับความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งวิกฤติเช่นนี้


อ้างอิง: The Conversation, NSPCC, The Guardian, BBC