นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของเด็กทารก ช่วยให้ร่างกายเติบโตและเป็นภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรบำรุงร่างกายตัวเองด้วยอาหารที่ดีมีประโยชน์ตั้งแต่ตอนท้องและหลังคลอด ด้วยภูมิปัญญาไทยที่ได้ส่งต่อเคล็ดลับอาหารเพิ่มน้ำนมหลังคลอด วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พามาดูอาหารเพิ่มน้ำนม สำหรับคุณแม่มือใหม่

5 อาหารหลังคลอดสำหรับคุณแม่ให้นม

หัวปลี มีธาตุเหล็กสูง

หัวปลี เป็นสิ่งที่หาง่ายใกล้ตัว สามารถนำมาปรับใช้กับเมนูอาหารไทยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แกงเลียงหัวปลี, ยำหัวปลี, ต้มหัวปลี, ต้มข่าไก่ และต้มจิ้มน้ำพริก ปัจจุบันนี้มีผู้นำไปประยุกต์ทำเป็นน้ำหัวปลี ผสมกับน้ำผึ้งเพื่อให้ดื่มง่าย

ขิง ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด

...

ขิง มีฤทธิ์ขับลม คนสมัยก่อนแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดรับประทานเพื่อขับน้ำคาวปลาที่ตกค้างหลังคลอด การรับประทานขิงจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้คุณแม่เจริญอาหาร สามารถนำมารับประทานเป็นน้ำขิงแทนน้ำเปล่าในช่วงให้นมได้

กะเพรา ขับลม

กะเพรา นำมาปรุงเป็นเมนูอาหารรับประทานง่าย อย่างไก่ผัดกะเพรา ต้มจืดใบกะเพรา มีฤทธิ์ขับลม แก้ท้องเฟ้อ ช่วยบำรุงน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอด

ฟักทอง วิตามินเอสูง

ฟักทอง มีวิตามินเอสูง ฟักทองเป็นวัตถุดิบที่รับประทานง่าย นำมาทำเป็นฟักทองนึ่ง หรือฟักทองย่าง เพื่อเป็นของว่าง หรือทำกับข้าวด้วยเมนูฟักทองผัดไข่ ช่วยเพิ่มวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และฟอสฟอรัส

กุยช่าย ฟอสฟอรัสสูง

กุยช่าย มีฟอสฟอรัสสูง บำรุงกระดูก และช่วยลดความดันโลหิต ช่วยบำรุงน้ำนมคุณแม่ รสชาติไม่ฉุน กินง่าย เหมาะนำมาทำเมนูกุยช่ายผัดตับ

โภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร

นอกจากอาหาร 5 อย่างนี้ อาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกายก็ห้ามขาด ระยะให้นมคุณแม่ควรได้รับอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอ รวมถึงวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นช่วงให้นม ดังนี้

  • โปรตีน รับประทานผักใบเขียว เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่ว และรับประทันผลไม้เพื่อรับวิตามินซีมาช่วยดูดซับธาตุเหล็กให้มากขึ้น
  • แคลเซียม คุณแม่ให้นมลูกควรดืมนม และอาหารที่ผลิตจากนม รวมถึงปลา กุ้ง กุ้งฝอย ผักใบเขียว เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • วิตามินเอ เพื่อข่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินเอผ่านน้ำนม คุณแม่ต้องได้รับวิตามินเอเพิ่มขึ้นจากไข่แดง ตับ นมสด น้ำมันตับปลา รับประทานผักผลไม้ที่มีเบต้าเคโรทีน ได้แก่ ผักใบเขียว, ฟักทอง, ผลไม้มีสีเหลือง เช่น มะม่วงสุก มะละกอสุก
  • โฟเลท เป็นสารที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโต ส่งผ่านน้ำนมได้ อาหารที่มีโฟเลทสูงได้แก่ ตับ, ผักใบเขียว, หน่อไม้ฝรั่ง, ผักโขม, มันเทศ ขนมปังที่ทำจากข้าวสาลี
  • วิตามินบี 1 ป้องกันอาการเหน็บชา รับประทานได้จาก ข้าวซ้อมมือ, เนื้อวัว, ถั่วเมล็ดแห้ง, ตับ, หมู เนื้อวัว เป็นต้น
  • วิตามินบี 2 เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำนม รับประทานได้จาก นม เนย เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง และยีสต์
  • วิตามินบี 12 ป้องกันโรคโลหิตจากหาได้จาก ตับ ไต เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน นมสด ไข่ ปลา

...

นอกจากนี้คุณแม่หลังคลอดระมัดระวังเรื่องอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมไขมันเยอะเกินไป เพราะจะส่งผลให้น้ำนมอุดตัน และควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ โดยในแต่ละวันเลือกจิบน้ำขิงเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ลดการสูญเสียน้ำ คุณแม่ควรดื่มน้ำวันละ 8 - 10 แก้ว เพื่อรักษาระดับน้ำนมให้ลูกได้ดื่มนานที่สุด