หากคุณกำลังจะต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ต้องพกแฟ้มใส่เอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อและแม่ เพื่อให้โรงพยาบาลออกหนังสือรับรองการเกิด ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลหลายแห่งมีบริการแจ้งเกิดให้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการแจ้งเกิดเองก็ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องรู้ก่อนว่าต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับ 1,000 บาท
แจ้งเกิดใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีเด็กเกิดในโรงพยาบาล บิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน แจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยใช้เอกสาร 4 อย่าง ดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) ออกโดยสถานพยาบาล
- เอกสารแจ้งเกิดเข้าทะเบียนบ้าน ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้า
เอกสารแจ้งเกิดเกินกำหนด
ใช้เอกสาร ข้อ 1-4 ตามข้อมูลข้างต้น แต่เพิ่มพยานบุคคลที่ให้รับการรับรอง และภาพถ่ายของเด็ก หากเด็กอายุเกิน 7 ปี
...
บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของพยานที่ให้รับการรับรอง มีภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่ติดต่อไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร 2 คน หากเด็กอายุเกิน 7 ปี ต้องใช้ภาพถ่าย 1 รูป
ขั้นตอนการแจ้งเกิด
- ยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด
- นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและหลักฐาน
- นายทะเบียนลงรายการในสูติบัตร เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- มอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่ผู้แจ้ง
แจ้งเกิดภายในกี่วัน
15 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด
แจ้งเกิดช้า แจ้งเกิดเกินกำหนด ต้องทำอย่างไร
หากแจ้งเกิดเกินกำหนดภายหลัง 15 วันหลังจากเด็กเกิด จะมีโทษปรับ 1,000 บาท และต้องใช้เอกสารรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล รวมถึงต้องนำพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำประกอบ ซึ่งก็คือผู้ทำคลอด หรือผู้ที่เห็นการเกิด ที่มีฐานะมั่นคง มีภูมิลำเนาในท้องที่ที่ติดต่อไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตรอย่างน้อย 2 คน มายื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิด
การแจ้งเกิดเด็กลูกครึ่ง
กรณีที่ 1 เด็กเกิดในราชอาณาจักรไทย
ใช้เอกสารข้อ 1 ถึงข้อ 4 ตามข้อมูลข้างต้น เด็กจะได้สัญชาติไทย ก็ต่อเมื่อ
- พ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย และได้จดทะเบียนสมรสกัน
- แม่มีสัญชาติไทย จดหรือไม่ได้จดทะเบียนสมรส
- พ่อมีสัญชาติไทย แม่ถือสัญชาติอื่น และจดทะเบียนสมรส
กรณี 2 แจ้งเกิดเด็กลูกครึ่ง เกิดนอกราชอาณาจักรเข้าทะเบียนบ้านไทย
หากเด็กเกิดนอกราชอาณาจักรไทย และแจ้งเกิดรับสูติบัตรจากสถานกงสุลมาเรียบร้อยแล้ว หากต้องการเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านไทย ใช้เอกสารข้อ 1-4 ตามข้อมูลข้างต้น โดยเพิ่มเอกสารสูติบัตรที่ออกโดยนายทะเบียนสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงศุล หากเด็กเกิดที่ต่างประเทศ ต้องมีหนังสือเดินทางไทยที่ใช้เดินทางเข้าประเทศไทยด้วย
แจ้งเกิดต้องไปที่ไหน
แจ้งเกิดในประเทศไทย
- กรุงเทพมหานคร แจ้งเกิดที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่เด็กเกิด
- ต่างจังหวัด แจ้งเกิดที่เทศบาล อำเภอ ในพื้นที่ที่เด็กเกิด
แจ้งเกิดต่างประเทศ
- สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล
ที่มา : เว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, เว็บไซต์กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ.