คนรุ่นใหม่อนาคตไกลคนหนึ่ง ธนพล ตัณฑกุลนินาท นักเรียนทุนฟุลไบรท์ ที่ไปเรียนทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ และเป็นคนไทยคนเดียวที่อยู่ในทีมประดิษฐ์หุ่นยนต์สำรวจดำน้ำ เข้าเเข่งขัน RoboSub 2024 ครั้งที่ 27 เวทีประกวดหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณบอส-ธนพล ตัณฑกุลนินาท วิศวกรหนุ่มที่มีความสนใจทางด้านเครื่องกล เล่าว่า ตอนเด็กชื่นชอบเรื่องเครื่องกล เครื่องบิน จึงมาเรียนที่คณะวิศวฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกเรียนด้านเครื่องกล เพราะสามารถไปทำเครื่องกลทั่วไปก็ได้ หรือไปทำหุ่นยนต์ก็ได้ ไปทำเรือไปทำเครื่องบินได้หมด จากนั้นก็ได้ทุนการศึกษา Fulbright Thai Graduate Scholarship 2022 จาก Thailand-United States Educational Foundation ไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโท วิศวกรรมหุ่นยนต์ จาก Georgia Institute of Technology แอตแลนตา จอร์เจีย สหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้เรียนจบกำลังทำหุ่นยนต์สำรวจดำน้ำ เพื่อเข้าเเข่งขัน RoboSub 2024 ครั้งที่ 27 ในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกันนี้กำลังหางานทำที่สหรัฐฯ เพื่อสะสมประสบการณ์ก่อนกลับเมืองไทย

“พอมาเรียนพบว่าตัวเองชอบเรื่องหุ่นยนต์สำรวจ หุ่นยนต์ที่จะทำงานในที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ หรืองานที่มนุษย์ไม่ควรทำก็ใช้หุ่นยนต์แทน เช่น หุ่นยนต์สำรวจทะเลลึก หุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบท่อส่งน้ำมัน หุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบข้างในตัวแท็งก์สารเคมี งานเหล่านี้ใช้หุ่นยนต์จะปลอดภัยกว่า และดีกว่า ผมชอบทำหุ่นยนต์ด้านนี้ เพราะรู้สึกมีความท้าทายดี และให้อะไรกับมนุษยชาติมากกว่า และรู้สึกว่า หุ่นยนต์ที่ทำไม่ได้แย่งงานคน เพราะเราทำหุ่นยนต์ให้ทำงานในส่วนที่คนไม่สามารถทำได้ เลยรู้สึกท้าทายและสนุก โปรเจกต์ที่ผมทำเราทำเป็นทีมมีประมาณ 20-30 คน แล้วจะมีคนหลักๆ 10 กว่าคนไปร่วมแข่ง ซึ่งในทีม มีผมเป็นเอเชีย สัญชาติไทยคนเดียวที่เหลือเขาสัญชาติอเมริกัน โดยผมจะเป็นหัวหน้าในส่วนการออกแบบ เครื่องกล ซึ่งได้ทำงานหลายด้านทั้งออกแบบคอมพิวเตอร์ และเครื่องกลครับ”

...

สำหรับอนาคตของวิศวกรหนุ่มไฟแรงคนนี้ เขาบอกว่าตอนนี้นอกจากจะทำโปรเจกต์การแข่งขันหุ่นยนต์แล้ว ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานทางด้านหุ่นยนต์ โดยจะหางานทำที่สหรัฐฯก่อน ตามที่วีซ่ามี ประมาณ 2 ปีก่อน และเมื่อสั่งสมความรู้เต็มที่แล้ว จึงจะกลับมาทำประโยชน์ที่เมืองไทย โดยบอกว่า “ตอนนี้ ผม 24–25 ปี ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนค่อยกลับเมืองไทย ผมอยากตอบแทนประเทศของเรา ในตอนที่เราพร้อมดีกว่า ตอนนี้เรายังรู้สึกว่ายังไม่พร้อม หรือยังไม่เก่งมากเพียงพอ ที่เราจะสร้าง Impact ใหญ่ๆได้ครับ”

ก้าวมาถึงวันนี้ได้อย่างสวยงาม คุณบอส บอกว่า “ผมมีคติพจน์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาที่จุฬาฯ เคยแนะนำครับ ทิศทางสำคัญกว่าความเร็วเสมอ คือเราเลือกเดินไม่ถูกทาง สุดท้ายก็จะเป็นการเสียเวลากับเส้นทางที่มันไม่ใช่ของเรา ทั้งนั้นจึงคิดว่าเราควรเลือกเส้นทางที่ดีสำหรับเรา จากนั้นความเร็วก็จะคลิกอัปได้เอง พยายามเรียนรู้หลายๆอย่างเพื่อจะได้รู้ว่าอะไรคือเส้นทางของเราครับ”...นี่คือ ต้นแบบของการเลือกเส้นทางชีวิตตนเองได้อย่างถูกต้อง!!

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่