ไข้หวัดใหญ่อาจเป็นโรคที่ดูไม่รุนแรงนักสำหรับคนทั่วไปในวัยรุ่นหรือวัยทำงาน แต่สำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทางที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันความเสี่ยง

เพราะไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่เพียงแค่หวัดธรรมดา แต่สามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบอวัยวะสำคัญและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น

  • ปอดบวม
  • หัวใจวาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงประมาณ 3-5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงประมาณ 290,000 - 650,000 ราย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

สำหรับประเทศไทย ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 603,000 ราย เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2566 ที่มีผู้ป่วย 484,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 47 ราย

...

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่สูงกว่าวัยทำงานถึง 10 เท่า ในขณะที่ 8 จาก 10 รายของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และรักษาการหัวหน้าฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้ร่วมการอภิปรายในเวทีและแบ่งปันความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย เผยว่า

"ในประเทศไทยมีความตระหนักถึงภัยของไข้หวัดใหญ่และภาระโรคได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาครัฐได้ริเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 เริ่มจากปีละ 1-2 ล้านโดสแก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านโดสต่อปี เมื่อรวมกับ 3 ล้านโดสจากตลาดภาคเอกชน อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (VCR) จะอยู่ที่ 12% ของประชากร และ 30% ของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าสูงในภูมิภาคของเรา แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกที่อยู่ที่ 75% สำหรับกลุ่มเปราะบาง ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการรับวัคซีนเป็น 12 ล้านโดสในปีต่อๆ ไป เพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น"

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงของไข้หวัดใหญ่มักถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและภาระจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ มีการประมาณการว่าภาระทางเศรษฐกิจระดับชาติจากไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 3.04 พันล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการรักษาแบบผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 7,632 บาท ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยในเฉลี่ยอยู่ที่ 178,000 บาท

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญกับการป้องกันผู้สูงอายุเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ

แม้ว่าการได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับพบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ดร.จอร์จ คาสเซียโนส (Dr. George Kassianos) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันจากสหราชอาณาจักร เผยว่าสาเหตุที่ทำให้ลดลงอาจมาจากปัจจัยเหล่านี้

  • ความลังเลในการรับวัคซีน
  • ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง
  • ความสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน
  • การขาดข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อน

จึงยิ่งต้องสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชากรผู้สูงอายุและผู้ดูแล เกี่ยวกับความสำคัญของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้สูงอายุ โดยเน้นการสร้างหลักฐานจากระเบียบวิธีการศึกษาที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) ร่วมกับหลักฐานจากการใช้งานจริง

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

ศาสตราจารย์ ทอร์ เบริง-โซเรนเซ่น (Prof. Tor Bering-Sorensen) หัวหน้าการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงในผู้สูงอายุในประเทศเดนมาร์ก เผยถึงผลการศึกษาที่เขาทดลองกับชาวเดนมาร์ก ว่า

"จากการศึกษา ผมได้สุ่มพลเมืองเดนมาร์กอายุ 65 – 79 ปีที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงช่วยลดความรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดอักเสบได้ถึง 64.4% และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ถึง 48.9% เมื่อเทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ในสถานการณ์จริง"

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ไข้หวัดใหญ่สามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบอวัยวะสำคัญและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อาทิ

  • เพิ่มความเสี่ยง 10 เท่าในการเกิดโรคหัวใจ
  • เพิ่มความเสี่ยง 8 เท่าในการเกิดหลอดเลือดสมอง
  • เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานถึง 75%

จึงควรป้องกันผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามช่วงวัย ซึ่งนอกจากจะป้องกันจากไข้หวัดใหญ่แล้วยังสามารถลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย

...