ผู้สูงวัย เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้งานสำคัญของแอปพลิเคชัน LINE ที่มีสัดส่วนถึง 13% ของผู้ใช้งานในประเทศไทยทั้งหมด เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนและครอบครัว รวมทั้งยังใช้ติดตามข่าวสารและส่งต่อข้อมูลต่างๆ ที่ตนเองสนใจอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมักมีมิจฉาชีพใช้ช่องทางการสื่อสารในแพลตฟอร์มต่างๆ หลอกลวงผู้คนเป็นจำนวนมาก และผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มผู้สูงวัย ด้วยเหตุนี้ LINE ประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับ Young Happy คอมมูนิตี้ผู้สูงอายุ จัดกิจกรรม "LINE Connect Day Smart Senior - ชวนวัยเก๋าเรียนรู้ใช้ LINE ให้สนุกและปลอดภัย" ขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน LINE ได้อย่างปลอดภัย ผ่านหัวข้อการเรียนการสอน “เคล็ดลับการใช้ LINE อย่างปลอดภัยจากมิจฉาชีพ” โดย คุณสุวิดิษฎ์ คงทอง ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้าแอปพลิเคชันไลน์ ในบทเรียนวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์, วิธีป้องกันการถูกขโมย LINE Account และวิธีสังเกตและตรวจสอบข้อความแปลกปลอมเพื่อป้องกันการถูกหลอกหรือขโมยบัญชี LINE จากผู้ไม่หวังดี
...
3 วิธีใช้ LINE ให้ปลอดภัย
1. วิธีสังเกตและตรวจสอบข้อความแปลกปลอม
โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักจะมาในลักษณะของผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่างๆ เช่น
- การเงินการลงทุน ได้แก่ ธนาคาร, นักลงทุน, ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน, ตัวแทนประกันต่างๆ, เงินกู้ รูปแบบข้อความที่ส่งมามักจะเป็น แจ้งเตือนว่ามีเงินเข้าให้คลิกลิงก์ต่างๆ หรือเชิญชวนให้มากู้ยืมเงินพร้อมให้คลิกลิงก์ ไปจนถึงหลอกลวงว่าเป็นข้อความจากธนาคารชั้นนำส่งมาแจ้งเตือนว่าพบสิ่งผิดปกติในบัญชีของคุณแล้วให้คลิกลิงก์เพื่อติดต่อหรือยืนยันตัวตน
- หน่วยงานราชการ ได้แก่ สถานีตำรวจ, กระทรวงต่างๆ ลักษณะข้อความแปลกปลอมที่ได้รับจากมิจฉาชีพ มักจะแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า, สำนักงานประกันสังคมแจ้งขออัปเดตข้อมูลส่วนตัวผู้เอาประกัน, ชวนประชาชนลงทะเบียนโครงการของภาครัฐ โดยจะมีการหลอกให้แอด LINE หรือคลิกลิงก์ต่อเพื่อลงทะเบียน เป็นต้น
- ขนส่งหรือพัสดุ เช่น พนักงานขนส่งต่างๆ, ช็อปปิ้งออนไลน์ รูปแบบข้อความจากมิจฉาชีพคือการแจ้งเตือนว่าขนส่งไม่สำเร็จ, แจ้งยืนยันว่าขนส่งสำเร็จ, แจ้งเตือนว่าติดต่อใครไม่ได้ ซึ่งมักจะนำพาให้เราอยากคลิกลิงก์ต่อเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- พนักงาน LINE หรือพนักงานจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่ทำให้หลายคนตกหลุมพราง คือ การแอบอ้างว่าเป็นพนักงานของแพลตฟอร์มชื่อดัง เช่น แจ้งเตือนว่าทำผิดกฎ, แจ้งเตือนบัญชีผิดปกติ, ประกาศว่าเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล แล้วให้เราคลิกลิงก์เพื่อดำเนินการต่อ
2. วิธีสังเกตบัญชีทางการว่าเป็นของจริงหรือไม่
สังเกตรูปแบบของโปรไฟล์จะแตกต่างจากบัญชี LINE แชตแบบปกติ
บัญชีทางการ
- มีสัญลักษณ์โล่หน้าชื่อ
- หากเปิดหน้าโปรไฟล์ด้วยสมาร์ทโฟนจะมีข้อมูลสำคัญ เช่น ประกาศ สถานะเวลาทำการ ที่อยู่ คูปอง หรือโพสต์ล่าสุดใน VOOM
- จำนวนเพื่อนของบัญชีทางการจะแสดงในหน้าโปรไฟล์
- จะไม่มีปุ่ม “โทร” และ “วิดีโอคอล”
บัญชี LINE ทั่วไป
- ไม่มีสัญลักษณ์โล่หน้าชื่อ
- หากเปิดหน้าโปรไฟล์ด้วยสมาร์ทโฟนจะไม่มีข้อมูลต่างๆ และไม่มีโพสต์ล่าสุดใน VOOM ปรากฏ
- ไม่มีจำนวนเพื่อนแสดง
- หากมีจำนวนเพื่อนแสดงอาจเป็นการตั้งสถานะเพื่อทำให้ดูเหมือนบัญชีทางการจริง
- จะมีปุ่ม “โทร” และ “วิดีโอคอล”
ควรสังเกตสัญลักษณ์โล่หน้าชื่อบัญชี
...
- โล่สีเขียวหรือสีน้ำเงิน หมายถึงบัญชีทางการที่ผ่านการรับรองจาก LINE แล้ว
โล่สีเทาหมายถึงบัญชีทางการที่ยังไม่ผ่านการรับรองจาก LINE
โปรดตรวจสอบกับเว็บไซต์หรือบัญชีโซเชียลมีเดียทางการของร้านค้า หรือหน่วยงานนั้นๆ - บัญชีทางการจะไม่สามารถเพิ่มผู้ใช้เป็นเพื่อนหรือเริ่มส่งข้อความหาผู้ใช้ก่อนโดยที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นผู้เพิ่มบัญชีทางการเป็นเพื่อนก่อนด้วยตนเองเสมอ
- ลักษณะของบัญชีทางการที่เข้าข่ายหลอกลวง คือ มักจะมีการขอให้เปิดเผยหรือ หรือถามข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลบัญชี, รหัสผ่าน, เลขบัตรประชาชน, รหัสเอทีเอ็ม, รหัส Mobile Bangking, รหัส OTP หรือโน้มน้าวให้ทำธุรกรรมทางการเงิน
3. วิธีป้องกันและสิ่งที่ควรทำเมื่อได้รับข้อความแปลกปลอม
- ไม่เพิ่มเพื่อนด้วย LINE ID หรือคลิกลิงก์ที่มาจากข้อความแปลกปลอมโดยเด็ดขาด
- หากมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวหรือแจ้งให้ทำธุรกรรมทางการเงินจากคนรู้จักหรือไม่รู้จัก แนะนำให้โทรสอบถามเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
- กดรายงานปัญหาหากได้รับข้อความแปลกปลอมทาง LINE
- ไม่ให้ข้อมูลบัญชีรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ กับผู้อื่น ซึ่งทีมงาน LINE จะไม่ขอรหัสผ่านจากผู้ใช้งานในทุกกรณี
...
วิธีปิดกั้นแชตคนที่ไม่รู้จัก
เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองในเบื้องต้น ควรทำการตั้งค่าปิดกั้นแชตจากคนที่ไม่รู้จัก โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ไปที่หน้าหลัก ที่มีสัญลักษณ์ “บ้าน”
- ไปที่ไอคอน “ฟันเฟือง” ที่อยู่ด้านบนขวาสุดเพื่อทำการตั้งค่า
- ไปที่ “ความเป็นส่วนตัว”
- เลื่อนปุ่ม “ปฏิเสธการรับข้อความ” ไปด้านขวาเพื่อเปิดใช้งาน
และที่สำคัญคือ อย่ามองข้าม “รหัสยืนยันตัวตน” เพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบหรือทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ “มักจะเป็นรหัสผ่านที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว” และกำหนดระยะเวลาการใช้งานโดยจะส่งไปยังอีเมลหรือข้อความทางโทรศัพท์ (SMS)
โดยรูปแบบของการยืนยันตัวตนที่นิยมและพบได้บ่อยก็คือ “รหัส OTP” (One Time Password) ที่สำคัญมากเพราะเป็นการยืนยันว่าบุคคลที่กำลังทำธุรกรรมออนไลน์อยู่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริง
...
ดังนั้นจึงไม่ควรบอกหรือส่งต่อรหัสนี้ให้กับบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด หากพบความผิดปกติ เช่น ได้รับรหัสทั้งที่ไม่ได้ทำรายการ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ของบริการนั้นๆ ทันที