- ตามรายงานจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ประมาณ 10% ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และเกือบ 8% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล
- ในผู้สูงอายุบางรายที่มีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้าย อาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของภาวะซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยไม่มีเรี่ยวแรงและความต้องการในการดำรงชีวิต ผู้ป่วยอาจไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ไม่อยากอาหาร ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ มีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ และเสียชีวิตได้
- หากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างฉับพลัน เช่น ไม่พูด พูดไม่เข้าใจ ไม่ยอมเคลื่อนไหว ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำด้วยตนเองได้ อาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบพาไปพบแพทย์
ผู้สูงอายุ อารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะพบเจอการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งผลถึงอารมณ์ของผู้สูงอายุได้
- ด้านร่างกาย
ผู้สูงอายุจะมีความแข็งแรงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง การได้ยินและการมองเห็นลดลง
ความจำที่ลดลงทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น บางครั้งต้องมีการซักถามเพื่อทำความเข้าใจหลายครั้งส่งผลทำให้หงุดหงิดได้ รวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะส่งผลต่ออารมณ์โดยตรง
- ด้านจิตใจ
ผู้สูงอายุอาจต้องพบกับการสูญเสียบุคคลที่รัก การแยกตัวของบุตรหลาน ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าหลังเกษียณ ความโกรธที่ตนเองต้องพึ่งพาบุคคลรอบข้างมากขึ้น ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้สามารถส่งผลต่ออารมณ์และอาจแสดงออกโดยการมีอารมณ์ที่หงุดหงิด โมโหร้ายได้
...
- ด้านสังคมและครอบครัว
มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมด้านหน้าที่การงาน เกษียณ ลดบทบาทจากหัวหน้าครอบครัว ในบางครั้งผู้สูงอายุอาจรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการของบุตรหลานหรือบุคคลรอบข้าง ส่งผลให้แสดงออกโดยการตัดพ้อ ประชดประชัน เพื่อให้บุตรหลานหรือผู้ดูแลสนใจมากขึ้น
อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า และความวิตกกังวล
หากผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวน อาจเป็นสัญญาณว่าท่านกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ
ตามรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าประมาณ 20% ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตบางประเภท แต่มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ได้รับการรักษา ประมาณ 10% ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เกือบ 8% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ความผิดปกติทางอารมณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้งในวัยชรา และจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
ในผู้สูงอายุบางรายที่มีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้าย อาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของภาวะซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยไม่มีเรี่ยวแรงและความต้องการในการดำรงชีวิต ผู้ป่วยอาจไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ไม่อยากอาหาร ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ มีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ และการเสียชีวิต ดังนั้น การสังเกต ใส่ใจผู้สูงอายุและให้การรักษาในระยะเริ่มแรกจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผู้สูงอายุ อารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย เป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง เกี่ยวกับโรคทางสมองหรือไม่
การที่ผู้สูงอายุอารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวัยของผู้สูงอายุจากปัจจัยแวดล้อมที่มากระทบ อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ ได้ เช่น
ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของโปรตีนชนิดที่ผิดปกติในระบบประสาท มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยอาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ จำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้ ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หลงผิด หากมีอาการมากขึ้นอาจสูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน
...
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุอาจมีภาวะซึมเศร้าได้จากหลายสาเหตุและอาจแสดงออกโดยการมีอารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย ไม่ค่อยพูด ไม่อยากคุยกับใคร เบื่ออาหาร รับประทานได้น้อยลง มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนมากขึ้น หรือนอนไม่หลับ เฉื่อยชา ไม่สนใจทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
ผู้สูงอายุ อารมณ์แปรปรวน โมโหร้ายรักษาได้หรือไม่
การรักษาผู้สูงอายุที่มีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้ายขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นอาการแสดงของโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคซึมเศร้า ควรรักษาตามแนวทางการรักษาแต่ละโรค
- แต่หากมีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้ายที่เป็นจากด้านอารมณ์ จิตใจและสังคม สามารถให้การดูแลเบื้องต้น
- การแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย พูดคุยสอบถาม
- หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่มกับครอบครัวหรือสังคม
- ให้เกียรติ ให้บทบาท แสดงออกถึงความสำคัญ เช่น ให้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ
- ให้พบปะสังสรรค์กับครอบครัวและสังคมอย่างสม่ำเสมอ
- การสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ
- การแก้ไขปัญหาทางกายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารหรือการใช้ชีวิต เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง การหาแว่นสายตาที่เหมาะสม ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน
...
สัญญาณที่ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์
ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เมื่อ
- มีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ผู้สูงอายุมีแบบแผนในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปหรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
- มีรูปแบบการนอนและการตื่นที่ผิดปกติอย่างมาก
- มีอาการเจ็บป่วยทางกายที่ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่งอย่างชัดเจน เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น
- มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างฉับพลัน เช่น ไม่พูด พูดไม่เข้าใจ ไม่ยอมเคลื่อนไหว ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำด้วยตนเองได้ อาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง
การป้องกันไม่ให้เกิดอารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย ในผู้สูงอายุ
การดูแลเพื่อป้องกันอารมณ์แปรปรวน และโมโหร้ายในผู้สูงอายุ เน้นการดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดย
- ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- แก้ไขปัญหาทางกายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารหรือการใช้ชีวิต เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน
- สนับสนุนการทำกิจกรรมยามว่าง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- ให้พบปะสังสรรค์กับครอบครัวและสังคม ทำกิจกรรมกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ความสำคัญด้านจิตใจ ตามใจผู้สูงอายุในสิ่งที่เหมาะสม ให้เกียรติ ให้การยกย่อง ให้ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นที่รักและที่ต้องการของครอบครัวและสังคม
การที่ผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวนและโมโหร้าย อาจเป็นจากการเปลี่ยนแปลงตามอายุของผู้สูงอายุ หรือเป็นอาการแสดงของโรคอื่นๆ ที่อันตรายและควรได้รับการรักษา ดังนั้น จึงควรใส่ใจและให้การดูแลรักษา ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ระยะแรก
ขอบคุณข้อมูล : นพ.อภิรัติ พูลสวัสดิ์ อายุรแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
...