คุณเคยมีอาการหลงลืม ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ บ้างหรือเปล่า เช่น ลืมกุญแจบ้านไว้ที่ไหนสักแห่ง บางครั้งก็ลืมว่าวางโทรศัพท์ไว้ตรงไหน ปัญหาเล็กๆ เหล่านี้อาจดูไม่น่าเป็นกังวล แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคความจำเสื่อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อัลไซเมอร์" หรือเปล่า...
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) หรือ โรคสมองเสื่อม เป็นโรคเกี่ยวกับสมองชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรืออาจพบได้เร็วกว่านั้น สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ที่ส่งผลกระทบต่อความทรงจำ ความคิด พฤติกรรม การควบคุมอารมณ์ และการใช้ภาษา แม้ว่าโรคนี้จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองได้ หากเราเข้าใจและทราบถึงวิธีการดูแลได้อย่างถูกต้อง
อัลไซเมอร์เกิดจากอะไร
การเกิดโรคอัลไซเมอร์ มาจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น ความผิดปกติในเนื้อสมอง การอักเสบ Inflammatory สาร amyloid เมื่อสลายจะทำให้อนุมูลอิสระออกมา อนุมูลนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมอง การเกิดจากกรรมพันธุ์ในครอบครัว และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อายุที่มากขึ้น โรคเรื้อรัง (โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน) พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบที่ไม่ได้ฝึกพัฒนาความคิด
...
ระยะของโรคอัลไซเมอร์แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มต้น : ผู้ป่วยจะมีอาการขี้ลืม หลงๆ ลืมๆ จำชื่อคน จำสิ่งที่จะทำหรือสถานที่ไม่ได้
- ระยะที่สอง : อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะจำเรื่องราวในอดีตได้ แต่จำเรื่องปัจจุบันไม่ได้ อารมณ์แปรปรวน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
- ระยะสุดท้าย : ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำทั้งหมด หรือเกิดภาพหลอน บางรายอาจเกิดอารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งในระยะนี้ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด
การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
ต้องใช้ความเข้าใจไปพร้อมกับความเห็นใจเป็นอย่างมาก เพราะพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือหงุดหงิดของผู้ป่วยนั้นเป็นสิ่งที่ยากต่อการควบคุม ในบางรายที่มีอาการชอบเดินวนไปวนมา การจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ ใช้สีโทนสว่างตกแต่งบ้าน ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจได้ดี รวมถึงควรเก็บของมีคมหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาล์วแก๊สและตรวจเช็กวัตถุไวไฟเสมอ ส่วนในรายที่มีอาการเริ่มจะดูแลยาก เช่น มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือเดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดอาการ
แนวทางการรักษา
ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้เร็วขึ้น จากการตรวจด้วย PET Scan ที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยป้องกันและดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เช่น การใช้แอปพลิเคชันสำหรับการฝึกสมอง การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) ในการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกสมอง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเข้าสังคมเพื่อเพิ่มการกระตุ้นทางสมองของผู้ป่วย
สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถบำรุงรักษาสมองและป้องกันอัลไซเมอร์ได้
การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีกิจกรรมที่กระตุ้นสมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย การฟังเพลง การทำงานศิลปะ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก การทำสมาธิ และจัดการความเครียด
แม้โรคอัลไซเมอร์อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยการดูแลที่ถูกต้องและการป้องกันอย่างเหมาะสม ก็สามารถช่วยให้สมองของเราคงความสดใสและมีสุขภาพดีไปได้อย่างยาวนานเช่นกัน มีการศึกษาที่พบว่าการทำสมาธิมีผลดีต่อความจำ ความใส่ใจ ความสามารถในการบริหารจัดการ และการรับรู้สังคมรอบตัว ดังนั้นการทำสมาธิจึงช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้อีกทางหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน