อาการปวดปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยมักเกิดกับผู้สูงวัย Sleep Foundation แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัญหานี้อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะ "น็อกทูเรีย" (nocturia) ซึ่งหมายถึงการตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ภาวะนี้อาจจะพบได้บ่อยกว่าที่คิด โดยประมาณ 40% ของผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ไปจนถึง 79 ปี ต่างเคยประสบกับปัญหานี้มาก่อน นอกจากนี้ตัวเลขนี้กลับพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าถึง 80% ในกลุ่มผู้สูงอายุ

การตื่นเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยๆ ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าในวันถัดไปเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้มากขึ้น โดยสาเหตุของการตื่นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อยอาจมาจาก

  • โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก มดลูก เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกของต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ โรคนิ่ว การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคต่อมลูกหมากโต
  • ปัญหาระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ และกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคเบาหวาน และโรคเบาจืด
  • การดื่มน้ำมากเกินไป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ
  • โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ และโรคทางสมอง

แต่อย่าเพิ่งกังวลไป ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ ในการจัดการกับความต้องการปัสสาวะกลางดึก เพื่อช่วยให้เรานอนหลับได้อย่างสบาย ดังต่อไปนี้

ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาโรคประจำตัว

Piedmont Healthcare อธิบายว่า กระเพาะปัสสาวะของเราสามารถเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 2 แก้ว งานวิจัยปี 2023 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Autonomic Neuroscience: Basic & Clinical ระบุว่า ระบบนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) ของเรากำหนดเวลาในการนอนหลับและการตื่น กระเพาะปัสสาวะก็เช่นกัน นอกจากนี้ MedlinePlus อธิบายว่า ถึงแม้เราจะปัสสาวะบ่อยตลอดวัน แต่ในเวลากลางคืน ร่างกายจะมีการปัสสาวะน้อยลง เพื่อให้เราได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอทฤษฎีว่า น็อกทูเรีย อาจเป็นภาวะความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบนาฬิกาชีวภาพ

...

การตื่นกลางดึกเพื่อมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยอาจมีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บบางชนิด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรีบรักษา (ภาพจาก iStock)
การตื่นกลางดึกเพื่อมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยอาจมีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บบางชนิด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรีบรักษา (ภาพจาก iStock)

Cleveland Clinic ระบุว่า ในบางกรณี น็อกทูเรีย อาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTIs) ปัญหาต่อมลูกหมาก ภาวะปัสสาวะบ่อยผิดปกติในเวลากลางคืน (nocturnal polyuria) และภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานเกินขนาด (overactive bladder syndrome) ทั้งนี้ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุอาจช่วยลดการปัสสาวะในช่วงกลางคืนได้ อย่างไรก็ตาม น็อกทูเรีย ไม่ได้เกิดจากโรคทั้งหมด ภาวะเช่น ความจุของกระเพาะปัสสาวะ ปริมาณน้ำที่ดื่ม อาหาร และยาที่รับประทาน ล้วนส่งผลต่อความถี่ในการเข้าห้องน้ำด้วย

บันทึกการขับถ่ายปัสสาวะเพื่อสังเกตอาการ

ถึงแม้ปัญหาปัสสาวะกลางคืนจะไม่หายวับไปในพริบตา แต่ the National Association for Continence แนะนำวิธีเริ่มต้นที่ดี คือ ในระหว่างหนึ่งสัปดาห์ จดบันทึกชนิด และปริมาณอาหาร เครื่องดื่ม ความถี่ในการเข้าห้องน้ำทั้งกลางวันและกลางคืน ระยะเวลาในการปัสสาวะ และอาการปัสสาวะเล็ด หากมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะ (diuretic) ก็ควรจดบันทึกเวลา และจำนวนครั้งที่รับประทานด้วย เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเชื่อมโยงสาเหตุที่อาจเป็นต้นทางของปัญหาการปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ ได้

นอกจากนั้น การติดตามข้อมูลแบบนี้ยังมีประโยชน์มากสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพของคุณด้วย บทความที่ตีพิมพ์ใน StatPearls ระบุว่า บันทึกการขับถ่ายปัสสาวะ (voiding diary) เป็นเครื่องมือสำคัญชนิดหนึ่งที่ช่วยหมอในการวินิจฉัยและรักษาภาวะน็อกทูเรีย หรือโรคที่อาจแฝงอยู่ ผู้ป่วยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบันทึกการปัสสาวะจากออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่กรอกข้อมูลเหล่านี้มีเพียง 37% เท่านั้น

ลดปริมาณน้ำดื่มช่วงเย็น

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความถี่ในการตื่นกลางคืน คือ การลดปริมาณน้ำที่ดื่มช่วงปลายวัน ผู้เชี่ยวชาญจาก Cleveland Clinic แนะนำให้ลดการดื่มน้ำลงประมาณสองชั่วโมงก่อนเข้านอน แต่ the National Association for Continence แนะนำให้เริ่มตั้งแต่สี่ถึงหกชั่วโมงก่อนนอน นอกจากนี้ประเภทของเครื่องดื่มก็สำคัญ เพราะกาเฟอีนทำหน้าที่เหมือนยาขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น ดังนั้นจึงควรบอกลาการดื่มกาแฟในช่วงบ่ายไปได้เลย (อ้างอิงจาก Mayo Clinic) เก็บไว้ดื่มตอนเช้าจะดีกว่า นอกจากนี้ คุณควรจำกัดแอลกอฮอล์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนนอน เพราะแอลกอฮอล์มีผลคล้ายกาเฟอีน เพิ่มความเป็นกรดของปัสสาวะ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น เนื่องจากสามารถทำให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองได้

...

พยายามเลี่ยงการดื่มน้ำจำนวนมากในช่วงก่อนนอนเพื่อลดปัญหาการตื่นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อย (ภาพจาก iStock)
พยายามเลี่ยงการดื่มน้ำจำนวนมากในช่วงก่อนนอนเพื่อลดปัญหาการตื่นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อย (ภาพจาก iStock)

แต่แน่นอน ก็ไม่ใช่งดน้ำดื่มจนเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ แต่ควรปรับปริมาณการดื่มน้ำให้พอดี เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้านอนตอนกระเพาะปัสสาวะเต็มเปี่ยมก็พอ

บรรเทาอาการบวมที่ขาและเท้า

หลายคนที่ปัสสาวะกลางคืนมักจะมีอาการบวมที่ขาและเท้า (อ้างอิงจาก National Association for Continence) ของเหลวเหล่านี้จะยังคงอยู่ในขาตลอดเวลาที่เราตื่น แต่ทันทีที่เรานอนราบ ของเหลวเหล่านั้นก็จะไหลเวียนกลับ และความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อกำจัดขับของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายในรูปของเสีย ผลก็คือต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วน

...

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

Cleveland Clinic ระบุว่า การออกกำลังกายช่วงกลางวันสามารถช่วยป้องกันอาการบวมที่ขาได้ นอกจากนั้นการสวมถุงน่องรัดขาก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะจะช่วยลดแรงดันที่เส้นเลือด ทำให้ของเหลวในขาไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้อย่างอิสระผ่านกระแสเลือด และถูกขับออกจากร่างกายได้ในขณะที่เราตื่น แทนที่จะเป็นตอนหลับ อีกวิธีคือ ยกขาสูงประมาณหนึ่งชั่วโมงในช่วงกลางวัน ให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ ก็สามารถช่วยลดอาการบวม และการตื่นปัสสาวะกลางคืนได้เช่นกัน

ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อลดการปัสสาวะกลางคืน

การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารอาจช่วยลดจำนวนครั้งในการลุกปัสสาวะตอนกลางคืนได้ จากผลการศึกษาปี 2017 ที่นำเสนอในงานประชุมสมาคมโรคทางเดินปัสสาวะแห่งยุโรป (European Society of Urology Congress) ที่กรุงลอนดอน พบว่า การลดการบริโภคเกลือสามารถช่วยลดอาการปัสสาวะกลางคืนได้ โดยทำการสำรวจกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงชาวญี่ปุ่นกว่า 300 คนที่มีปัญหาการนอนหลับและบริโภคเกลือสูง ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่าง 223 คน ที่ลดการบริโภคเกลือจาก 10.7 กรัมต่อวัน เหลือเพียง 8 กรัมต่อวัน มีจำนวนครั้งเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนลดลงจากเฉลี่ย 2.3 ครั้งต่อคืน เหลือเพียง 1.4 ครั้ง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เพิ่มปริมาณการบริโภคเกลือ กลับมีความถี่ในการปัสสาวะตอนกลางคืนเพิ่มขึ้นจาก 2.3 ครั้ง เป็น 2.7 ครั้งต่อคืน

...

เมนูอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงทำให้ปวดปัสสาวะกลางคืนบ่อย (ภาพจาก iStock)
เมนูอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงทำให้ปวดปัสสาวะกลางคืนบ่อย (ภาพจาก iStock)

ในที่สุด หากต้องรับประทานยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาสุขภาพ คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเวลาการรับประทานยา เพราะหากรับประทานยาในช่วงบ่าย แทนที่จะเป็นก่อนนอน จะช่วยให้ร่างกายมีเวลานำของเหลวส่วนเกินออกก่อนเข้านอน ซึ่งจะช่วยให้หลับสบายขึ้นตลอดคืน.

ข้อมูลอ้างอิง : Health Digest, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์