คำว่าแก่ พูดเบาๆ ก็เจ็บ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะพบกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผมหงอก ริ้วรอย อาการปวดเมื่อยต่างๆ ตามร่างกาย จนหลายคนต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ประทินผิวเพื่อคงความอ่อนเยาว์ทั้งหลาย แต่ไม่ว่าจะใช้อะไรเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนของวัยได้ เพราะนี่คือเรื่องธรรมชาติและเป็นสัจธรรมแห่งชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป จริงๆ แล้ว การเป็นผู้สูงวัยสามารถเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ได้ มาดูกันว่าร่างกายและจิตใจของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างเมื่อเรามีอายุมากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งฉลาดด้วยประสบการณ์

เรามักตัดสินคนอื่นว่าฉลาดหรือโง่ แต่ความฉลาดนั้นซับซ้อนกว่าที่เราคิด ไม่ได้จำกัดแค่ความฉลาดด้าน IQ หรือ EQ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in Human Neuroscience ระบุว่า เราทุกคนมีความฉลาดสองประเภท คือ แบบที่เป็นพรสวรรค์ (Fluid intelligence) ซึ่งเป็นความฉลาดที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และแบบพรแสวง (Crystallized intelligence) ซึ่งเป็นความฉลาดที่เกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์

ความฉลาดที่เป็นพรสวรรค์คือ ความรู้ที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะ เป็นทักษะการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมโดยไม่อาศัยการฝึกฝนมาก่อน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuropsychologia ระบุว่า เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายอาจทำให้พรสวรรค์ของคุณลดลง

ส่วนการศึกษาใน Encyclopedia of Autism Spectrum Disorders ระบุว่า อย่างไรก็ตาม พรแสวงของคุณซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ตลอดชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอายุมากขึ้นคุณก็จะสะสมความรู้ใหม่ๆ และเพิ่มความเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านประสบการณ์ทางการศึกษาและวัฒนธรรม กล่าวคือ คุณกลายเป็น "ผู้อาวุโสที่มากด้วยปัญญา" นั่นเอง

...

เมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งมีความสุข

คุณน่าจะเคยเจอคนสูงอายุขี้หงุดหงิดอย่างน้อยหนึ่งคน เช่น คุณยายที่ชอบถามว่าคุณท้องหรือเปล่า ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ท้อง หรืออาจจะเป็นคุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายที่ชอบโวยวายเรื่องรสชาติกาแฟที่ไม่ถูกใจ

ถึงคนสูงอายุขี้หงุดหงิดเหล่านั้นจะยังมีอยู่ แต่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology (ผ่าน American Psychological Association) พบว่า คนส่วนใหญ่จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องไปใส่ใจพวกเขาหรอกนะ

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นั่นเป็นเพราะเมื่ออายุมากขึ้น คนเราเลือกที่จะโฟกัสและจดจำสิ่งที่ดีมากกว่าสิ่งที่ไม่ดี เนื่องจากสมองของเรามีการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นบวกมากขึ้น ทำให้เมื่อเราอายุมากขึ้น สมองจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นนั่นเอง

เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะพบว่า การแก่ชราไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความสวยงามภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเกิดขึ้นทั้งภายในร่างกายและจิตใจ สติปัญญาของเราอาจเปลี่ยนแปลงไป พรสวรรค์และพรแสวงอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือภูมิปัญญาและความสุขของตนเอง

เมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งเข้าใจคนรอบข้าง

เมื่ออายุมากขึ้น จะพบว่าการมีบทบาทที่หลากหลาย ทั้งการเป็นพ่อแม่ดูแลลูก ลูกดูแลพ่อแม่ คู่รักดูแลกัน พี่น้องดูแลกันเมื่อมีปัญหาหรือเจ็บป่วย การทำหน้าที่เหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงความผูกพัน ความรับผิดชอบ และความเอื้ออาทรต่อกัน

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องเป็น “เดอะแบก” เพราะต้องดูแลคนรอบข้างอาจทำให้เราลืมใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือบางครั้งอาจขาดความอดทน หรือไม่ทันสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคนที่ดูแล หรือบางครั้งอาจเผลอพูดหรือทำในสิ่งที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดคนที่เรารัก ช่วยเหลือพวกเขาในยามที่มีอายุมากขึ้น กลับยิ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น และทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจไปด้วยต่างหาก ดังนั้นการเป็นผู้ดูแลไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนใจแข็ง แต่ยิ่งเปิดโอกาสให้เรารู้จัก "ความเมตตาและความเข้าใจผู้อื่น" ที่ลึกซึ้ง มีความสงบนิ่ง และมั่นคงมากขึ้นด้วย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

ความเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะที่สำคัญที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่น ทักษะนี้มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก ความเห็นอกเห็นใจช่วยให้เราสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนกับผู้อื่น โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างวัย ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุมักมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายกว่าวัยอื่นๆ พวกเขาอาจผ่านพ้นความท้าทายและอุปสรรคมากมายในชีวิต ความเห็นอกเห็นใจช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของผู้สูงอายุและสนับสนุนพวกเขาอย่างเหมาะสม

จากงานวิจัยพบว่า ความสามารถในการรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่นและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของผู้สูงวัยอาจไม่ลดลง หรืออาจเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ความสามารถในการเข้าใจมุมมอง ความคิดและความรู้สึกของคนอื่นในผู้สูงวัยอาจลดลง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้สูงวัยจะใจแข็ง เพียงแต่วิธีการแสดงความเห็นอกเห็นใจเปลี่ยนไปเท่านั้น เช่น คุณยายอาจจะไม่ร้องเมื่อเห็นหลานกำลังร้องไห้ แต่อาจทำความเข้าใจว่าหลานกำลังเหนื่อยหรือหงุดหงิด เลยหาทางปลอบใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แม้สมองอาจเปลี่ยนไปตามวัย แต่ความเห็นอกเห็นใจของคนสูงวัยก็ยังทรงพลังอยู่เสมอ แถมยังพัฒนาไปอีกแบบ ผสมผสานทั้งความรู้สึกและความคิด ช่วยให้บทบาทการดูแลเต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และสายสัมพันธ์ที่งดงาม

เมื่ออายุมากขึ้น ต้องใส่ใจสุขภาพฟันมากกว่าเดิม

แม้จะมีผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากมากมาย ทั้งแบบฟอกและเคลือบฟัน แต่วิถีธรรมชาติของร่างกายก็คือ ยิ่งอายุมากขึ้น ฟันและเหงือกของเราก็จะมีร่องรอย "ใช้งาน" อยู่บ้าง แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะนี่ไม่ได้หมายความว่าฟันคุณจะผุกร่อนจนหมดปาก คุณเพียงแค่ต้องใส่ใจดูแลฟันมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลจาก Harvard Health Letter ระบุว่า การแปรงฟันอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ และปรึกษาทันตแพทย์เป็นประจำ จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของฟันและเหงือก ช่วยให้คุณยิ้มอย่างมั่นใจได้ยาวๆ ยันแก่กันไปเลย

...

เพราะเราใช้ฟันเคี้ยวๆ บดๆ มาทั้งชีวิต ฟันของเราก็เหมือนเครื่องจักรเก่าที่ต้องมีการสึกหรอกันบ้าง ยิ่งกินของเปรี้ยวๆ หรือดื่มน้ำโซดาซ่าๆ ก็ยิ่งทำให้เคลือบฟันผุกร่อนจนบาง จนทำให้ฟันเหลืองจนเห็นได้ชัด

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

เมื่ออายุมากขึ้น ความรู้สึกเสียวฟันจะน้อยลง ส่งผลให้อาการฟันผุ ฟันร้าว อาจคืบคลานมาเงียบๆ โดยไม่ทันรู้ตัว ซึ่งข้อมูลจาก Harvard ระบุไว้เลยว่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำไม "ผู้ใหญ่ 65+ ถึงฟันผุบ่อยกว่าเด็กประถม"

เมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งตื่นเช้ากว่าปกติ

สำหรับผู้สูงอายุ รูปแบบการนอนจะเปลี่ยนไปตามวัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลายปัจจัย เช่น จังหวะชีวภาพ ฮอร์โมน และสมดุลของการนอนหลับและการตื่นนอน The US National Library of Medicine เผยว่า ยิ่งมีอายุมากขึ้น มักหลับยาก นอนหลับไม่สนิท ผลลัพธ์คือตื่นเช้ากว่าเดิมจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก Nature Communications ที่ระบุถึงผลเฉลี่ยว่า คนตื่นเช้ามักมีความสุขและดีกว่า เฉียบแหลมกว่า มีผลงานที่โดดเด่นกว่า มีการตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น วางแผนอนาคตได้มากกว่า และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

...

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

อย่างไรก็ตาม การจะกลายเป็นคนตื่นเช้าแบบนี้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเสมอไป เพราะอาจนอนหลับลึกได้ยาก นอนหลับน้อยลง และอาจเกิดโรคนอนไม่หลับแถมพ่วงมาด้วย ซึ่งโรคนอนไม่หลับในผู้สูงอายุอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด สภาพแวดล้อม หรือโรคประจำตัว The Sleep Foundation ของสหรัฐฯ เตือนว่า การอดนอนเรื้อรังอาจทำให้หมดพลัง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้

เมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งปวดหัวไมเกรนน้อยลง

เมื่ออายุมากขึ้น เรามักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ตื่นเช้ามาก็รู้สึกปวดเมื่อยไปหมด ทั้งตัว ทั้งขา ทั้งแขน แค่ลุกจากเตียงก็เหมือนต้องใช้พลังทั้งหมดที่มี กล้ามเนื้อที่ไม่เคยรู้จักก็ปวดตุ๊บๆ หลังจากโกยขยะ กวาดใบไม้ นั่งรถนานก็ปวดอีก พอเดินขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นหอบแฮกๆ

แต่ข้อดีคือ ไมเกรน หรืออาการปวดหัวหลังจากกินอาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ หรือไวน์ อาจจะเบาลงตามอายุ งานวิจัยใน Current Pain and Headache Reports ชี้ว่า อาการไมเกรนรุนแรงแบบทนแสงจ้าไม่ได้ ที่ทำให้มึนหัว ปวดตุบๆ หนาวๆ ร้อนๆ อยากจะอาเจียน มักจะลดลงตามวัยด้วย นอกจากนี้ ผลวิจัยจากวารสารของ The American Headache Society ยังระบุด้วยว่า คนที่มีอายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดไมเกรนนิดๆ แต่จะไม่ค่อยเป็นอะไรมาก

เมื่ออายุมากขึ้น ริมฝีปากจะบางลงตามวัย ไม่ใช่เรื่องแปลก

ดาราคนโปรดปากอิ่มฟูสวยจนวัยเข้าเลข 7 เป็นไปได้ยังไง? พวกเขาอาจจะใช้วิธีเสริมคอลลาเจนหรือฉีดฟิลเลอร์เข้ามาช่วย เพราะความจริงก็คือ ยิ่งมีอายุมากขึ้น ริมฝีปากเราจะค่อยๆ บางลง ไม่เต่งตึงเหมือนตอนอายุยังน้อย

"เมื่อเราแก่ลง สารสำคัญในผิวอย่างคอลลาเจน อีลาสติน ไฮยาลูรอนิกแอซิด จะลดลงตามธรรมชาติ" นายแพทย์ ปีเตอร์สัน ปิแอร์ (Peterson Pierre) หมอผิวหนังชื่อดังในแคลิฟอร์เนีย อธิบาย สารเหล่านี้ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว ทำให้เต่งตึง พอขาดไป ผิวก็แห้ง เกิดรอยเหี่ยวย่น ปากก็บางลงเป็นธรรมดา นอกจากนี้ พฤติกรรมทำร้ายผิวอย่างการอาบแดด สูบบุหรี่ ก็ยิ่งทำให้ปากแห้งและบางลงด้วย (อ่าน : getting a tan and smoking)

นอกจากนี้ ยูลี กอโรดิสกี (Yuly Gorodisky) ศัลยแพทย์พลาสติกจาก West Coast Plastic Surgery Center ยังบอกอีกว่า ยิ่งอายุมาก กระดูกเบ้าหน้าอาจยุบลง ทำให้โครงสร้างใบหน้าเปลี่ยนไป ฐานรองรับริมฝีปากน้อยลง ปากจึงหุบเข้าด้านใน ทำให้ดูบางลงมากยิ่งขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น เล็บยิ่งหนาขึ้นตามวัย

เล็บเปราะบาง ฉีกขาดง่ายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ ไม่ใช่แค่ดูไม่สวย แต่เวลามันฉีกแล้วไปเกี่ยวเนื้อบริเวณโคนเล็บก็แอบเจ็บเอาเรื่องอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ออกแบบมาเพื่อเสริมความหนาให้กับเล็บที่อัดวิตามินแร่ธาตุสารพัดอย่าง

แต่ทราบหรือไม่ว่าเล็บของเราจะหนาขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ตามข้อมูลจาก College of Family Physicians of Canada ระบุว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงของเล็บเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้น่ายินดีเสมอไป

จากข้อมูลของ PA Foot & Ankle Associates ชี้ว่า เมื่ออายุมากขึ้น อัตราการงอกของเล็บมือและเล็บเท้าจะช้าลง ส่งผลให้เล็บหนาขึ้น เนื่องจากเซลล์เล็บ (Onychocytes) เกิดการทับถมกันมากขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Dermatology และจาก American Diabetes Association เองก็ระบุว่า โรคเบาหวานเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เล็บหนาขึ้น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

เมื่ออายุมากขึ้น ความมั่นใจยิ่งเพิ่มขึ้นตามวัย

ความมั่นใจในตัวเองนั้นแปรปรวนขึ้นลงได้เหมือนคลื่นลม สมัยเด็กๆ ตอนที่ยังไม่ค่อยรู้จักบรรทัดฐานสังคมอันโหดร้าย หรือมาตรฐานความงามที่เอื้อมไม่ถึง เราก็เปี่ยมล้นไปด้วยความมั่นใจแบบไร้เดียงสา แต่พอโตขึ้น แรงกดดันจากสังคมก็เริ่มซึมซาบเข้ามา เหมือนผ้าขาวที่เคยสดใส ถูกแต้มแต่งไปด้วยสีสันต่างๆ จนทำให้เรารู้สึกด้อยลง จนความไม่รู้สึก “พอ” กลายเป็นเรื่องปกติไปเลย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

งานวิจัยของ The Atlantic ระบุว่า ผู้หญิงในช่วงเริ่มแตกเนื้อสาวและเป็นวัยรุ่น มักจะไม่ค่อยมั่นใจในตนเองมากนัก แต่ Harvard Men's Health Watch ปลอบว่า พอย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิงจะมาถึงจุดที่มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น วัยทองนี่เต็มไปด้วยความมั่นใจสุดๆ เลยนะขอบอก! แต่ในทางกลับกันงานวิจัยในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology อธิบายว่า ความมั่นใจของเราก็เหมือนกราฟรูประฆัง ที่จะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดตอนวัยกลางคน แล้วค่อยๆ ลดลงหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว (อ้าว…)

เมื่ออายุมากขึ้น ผมบางและหงอกอย่างมั่นใจ ยอมรับสีผมตามวัย สไตล์ไม่รู้โรย

เมื่ออายุมากขึ้น การมีผมหงอกหรือผมบางกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วันนี้การยอมรับผมสีเทาเงินอย่างมีความสุข กลายเป็นเทรนด์ใหม่ ที่ Glamour ถึงกับยกให้เป็น "การปฏิวัติผมหงอก" กันเลยเชียว เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ผมและขนตามร่างกายอย่างขนรักแร้หรือขนน้องหนูก็จะหงอกตามไปด้วย อย่าได้อาย เรื่องธรรมชาติล้วนๆ

ข้อมูลจาก The US National Library of Medicine ระบุว่า เมื่ออายุมากขึ้น ผมก็ยิ่งมีโอกาสหงอกมากขึ้น ไม่เว้นแม้ขนตามร่างกายในส่วนอื่นๆ เนื่องจากรูขุมขนสร้างเมลานิน (เม็ดสี) น้อยลงตามวัย โดยปกติมักเริ่มหงอกตั้งแต่ช่วง 30 แต่บางคนก็มาก่อนวัยอันควร และในที่สุดก็จะกลายเป็นขาวโพลนไปทั้งศีรษะเลย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นอกจากนี้ ผมก็บางลงตามวัยเช่นกัน เพราะเส้นผมประกอบด้วยโปรตีน ซึ่งร่างกายสร้างได้น้อยลง แถมเส้นผมยังมีอายุขัยประมาณ 2-7 ปีเท่านั้น พออายุมากขึ้น อัตราการงอกของเส้นผมก็ช้าลง จึงเป็นเรื่องปกติที่จะสังเกตเห็นผมบางหรือศีรษะล้านเมื่ออายุมากขึ้น บางรูขุมขนอาจหยุดสร้างผมไปเลยด้วยซ้ำ

มีหลายวิธีในการรับมือกับผมหงอก บางคนอาจเลือกที่จะย้อมผมเพื่อปกปิดผมหงอก บางคนอาจเลือกที่จะปล่อยให้ผมหงอกตามธรรมชาติ หากต้องการย้อมผม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ควรย้อมผมบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผมแห้งและเปราะบางได้ หรือหากต้องการปล่อยให้ผมหงอกตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือต้องดูแลเส้นผมให้แข็งแรง ควรหวีผมเบาๆ หลีกเลี่ยงการสระผมบ่อยเกินไป และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่อ่อนโยน

อย่างไรก็ตาม ผมหงอกไม่ได้เป็นสัญญาณของความแก่ชราเสมอไป หลายคนมองว่าผมหงอกเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างามและประสบการณ์ต่างหาก นอกจากนี้ ผมหงอกยังช่วยปกป้องหนังศีรษะจากแสงแดดได้ดีกว่าผมสีดำอีกด้วย

เมื่ออายุมากขึ้น เซ็กซ์ไลฟ์กระชุ่มกระชวยขึ้นตามวัย

ลืมเรื่องน่ากลัวที่บอกว่า การมีเพศสัมพันธ์จะทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือน้อยลงเมื่อคุณแก่ขึ้นเถอะ จากการวิจัยในวารสาร Personality and Individual Differences พบว่า ผู้หญิงมักมีแฟนตาซีมากที่สุดในช่วงวัย 20 ปลายถึง 30 กลางๆ และเมื่อ "นาฬิกาชีวภาพ" ของผู้หญิงเริ่มทำงาน พวกเธอก็ยิ่งต้องการและมีแนวโน้มที่จะมีเซ็กซ์มากขึ้นด้วย โดยจะถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุ 27 ถึง 45 ปี ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ชัดเจน

จากการสำรวจผู้หญิงในแอปฯ คุมกำเนิด Natural Cycles พบว่า ผู้หญิงในช่วงอายุ 30 ปลายๆ จำนวนมากยอมรับว่าได้สัมผัสจุดสุดยอดที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในวัย 20 ปี (ผ่าน New York Post) สิ่งที่น่าสนใจคือ การวิจัยเพิ่มเติมจาก Stein Institute for Research on Aging ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า ความพึงพอใจในเรื่องเซ็กซ์ของผู้หญิงวัย 60 ถึง 89 ปี สัมพันธ์กับ "การสูงวัยที่ประสบความสำเร็จ" โดยหลักคือ เมื่อคุณยิ่งมีความสุข เซ็กซ์ก็ยิ่งดี และเมื่อเซ็กซ์ดีขึ้น ก็ยิ่งทำให้คุณมีความสุข มันเป็นวัฏจักรที่สวยงามจริงๆ

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

แต่ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่สามารถสนุกกับความพึงพอใจทางเซ็กซ์มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นหรอกนะ การวิจัยใน Psych Central เผยว่า ผู้ชายก็ดูเหมือนจะสนุกกับเซ็กซ์มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย จริงๆ แล้วมากกว่าผู้หญิงด้วยซ้ำ

เมื่ออายุมากขึ้น เรายิ่งเตี้ยลง

เคยสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมปู่ย่าตายายของเราถึงตัวเล็กกว่าพ่อแม่เรา แต่ก่อนพวกเขาอาจเอื้อมมือไปหยิบของในตู้เครื่องปรุงได้สบายๆ แต่ตอนนี้กลับต้องปีนเก้าอี้แล้ว นั่นเป็นเพราะร่างกายของพวกเขา "หด" ลง แล้วคุณเองก็จะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

"ความสูงของเราถูกกำหนดโดยความยาวของกระดูกขา กระดูกสันหลัง และกะโหลกศีรษะ" นายแพทย์แอนโธนี แอล. โคมารอฟฟ์ (Anthony L. Komaroff) อธิบายใน Harvard's Health Letter แม้ว่าขาและกะโหลกจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อโตขึ้น แต่กระดูกสันหลังจะเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่มีกระดูกสันหลังเรียงซ้อนกัน 24 ชิ้น ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ และเมื่อเวลาผ่านไป กระดูกก็จะบางลง ทำให้กองกระดูกที่ซ้อนกันอยู่นั้นทรุดตัวลงเรื่อยๆ

Ventura Orthopedics อธิบายว่า สุขภาพและโภชนาการที่ไม่ดี ภาวะกระดูกพรุน การเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญในร่างกาย ฝ่าเท้าแบน อากัปกิริยาท่าทางที่ไม่สมดุลหรือผิด การกดทับหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และปัจจัยอื่นๆ ล้วนส่งผลให้ความสูงลดลงได้

เมื่ออายุมากขึ้น จมูกจะรับกลิ่นน้อยลง 

ข้อมูลจาก The National Institute on Aging ของสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่ออายุมากขึ้น กลิ่นและรสชาติที่คุณคุ้นเคยอาจเปลี่ยนแปลงไป กลิ่นแรงๆ อาจจะรบกวนรูจมูกของคุณน้อยลง แต่กลิ่นหอมๆ ก็อาจเลือนลางไปตามวัยเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ การรับรู้กลิ่นของคุณมีบทบาทสำคัญในการระลึกถึงความทรงจำ แค่ได้กลิ่นน้ำหอมหรือดอกไม้ก็อาจทำให้เรานึกถึงอดีตได้ แต่เมื่อประสาทรับกลิ่นเสื่อมลง อาหารก็อาจจะไม่อร่อยเท่าเดิม ทำให้เราต้องพึ่งสารปรุงแต่งรสอย่างเกลือและน้ำตาลที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ

ข้อมูลจาก The National Institute on Aging เผยว่า สารปรุงแต่งรสเหล่านี้จะยิ่งอันตรายเมื่อคุณอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน แถมยาที่ใช้รักษาโรคเหล่านี้ก็อาจส่งผลต่อรสชาติอาหารด้วย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่มาทั้งชีวิตและสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดกลิ่นปากได้

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอ่อนแอลงตามวัย เพราะภูมิคุ้มกันลดลง

ในอดีต คุณอาจเคยป่วยไข้หวัดแล้วหายได้ในพริบตา แต่เมื่ออายุมากขึ้น การฟื้นตัวจากอาการป่วยอาจไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเราย่อมเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Investigation ชี้ว่า ร่างกายของเราจะลดการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด B และ T รายงานจาก Molecular Biology of the Cell ระบุว่า เซลล์ B จะต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม สร้างภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์ T จะช่วยกระตุ้นเซลล์ B และกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อ พูดอีกนัยหนึ่งคือ แม้บางครั้งผู้สูงอายุอาจมีอาการป่วยเริ่มต้นที่ดูไม่รุนแรง แต่ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงตามวัยส่งผลให้ติดเชื้อง่ายขึ้นและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว

ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้น ก็ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ใส่ใจรับฟังสัญญาณของร่างกายให้มากขึ้น หมั่นสร้างเสริมสุขภาพด้วยนิสัยที่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นรักษาความสะอาด เพราะเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกายและภูมิคุ้มกันของเรา

การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เราพบว่า วัยทองไม่ใช่แค่สัญญาณของการเป็นผู้สูงวัย แต่มันคือผลงานชิ้นเอกที่วาดด้วยสีสันของประสบการณ์และความอดทน ขณะที่เราเฉลิมฉลองความงดงามของประสบการณ์วัยทอง เรายอมรับว่าการเดินทางไม่ได้สิ้นสุดลงแค่หน้ากระดาษเหล่านี้ ความงามของวัยทองอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเราอยากชวนคุณโอบอุ้มทุกบทของชีวิตด้วยความสง่างามและความอยากรู้อยากเห็น


ข้อมูลอ้างอิง : Health Digest