การวางแผนเกษียณเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปี หรือเข้าสู่วัยเลขห้ามาได้หลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีเงินเก็บเพื่อใช้ยามเกษียณ ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นวางแผนเกษียณ เพราะคนส่วนใหญ่จะทำงานจนถึงอายุไม่เกิน 60 ปี จึงมีระยะเวลาเหลือสำหรับเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณไม่เกิน 10 ปี แต่ใครที่ยังมีร่างกายแข็งแรง และยังสามารถทำงานได้หลังอายุ 60 ปีไปแล้ว จะมีระยะเวลาทำงานเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณได้ยาวนานขึ้น
เหตุผลที่การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องสำคัญก็เพราะ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวมากขึ้น จากการดูแลสุขภาพของตัวเอง และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยทำให้คนอายุขัยเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่มีอายุยาวนานขึ้น ดังนั้นหากเกษียณไปแล้วและไม่มีเงินเก็บหรือรายได้เข้ามา คงต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างยากลำบากแน่นอน
การเริ่มต้นวางแผนเกษียณด้วยการเริ่มต้นเก็บเงินตอน 50 ปี ถือว่ายังไม่สายเกินไปและยังสามารถทำได้ หากมีการวางแผนที่ดี ส่วนจะมีวิธีเก็บเงินอย่างไรนั้น วันนี้เรามีคำแนะนำให้ลองไปทำตามกันดู
6 วิธีวางแผนเกษียณ เก็บเงินตอนอายุ 50 ปี
1. วางแผนเกษียณ สำรวจค่าใช้จ่าย
สิ่งแรกที่ควรทำสำหรับการวางแผนเกษียณเริ่มต้นเก็บเงินตอนอายุ 50 ปี คือ การสำรวจค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือนว่ามีจำนวนเท่าไร ทั้งค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้ในอนาคตยามที่ต้องมีชีวิตภายหลังเกษียณการทำงานแล้ว และประเมินว่าแต่ละเดือนต้องใช้เงินจำนวนเท่าไร รวมถึงระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตอยู่อีกนานเท่าไร
การสำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ จะทำให้มองเห็นภาพกว้างๆ ว่า เราจำเป็นต้องมีเงินออมเท่าไร เพื่อใช้ในช่วงวัยเกษียณ การสำรวจค่าใช้จ่าย ยังช่วยทำให้เห็นภาพด้วยว่า อะไรคือสิ่งไม่จำเป็น อะไรเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งเราควรประหยัดหรือใช้จ่ายลดลง เพื่อมีเงินออมใช้ตอนเกษียณเพิ่มมากขึ้น
...
2. วางแผนเกษียณ สำรวจหนี้สิน
การสำรวจหนี้สิน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอย่างแรกๆ ในการวางแผนเกษียณ เพราะหากเริ่มต้นเก็บเงินตอนอายุ 50 ปี ถ้ามีหนี้สินจำนวนมากการจะมีเงินเก็บก้อนโตคงทำได้ยาก เพราะรายได้ที่หามาต้องเอาไปใช้หนี้สินหมด การสำรวจหนี้สิน จะทำให้รู้ว่าเราจะเหลือเงินเพื่อเป็นเงินออมเท่าไร
นอกจากรู้ว่ามีหนี้สินเท่าไรแล้ว ก็ต้องวางแผนการชำระหนี้สินให้หมดโดยเร็ว เพื่อจะได้มีระยะเวลาเก็บเงินมากขึ้น แต่หนี้สินหรือค่าใช้จ่ายบางอย่าง ก็ใช่ว่าจะเป็นภาระเสียอย่างเดียว อีกมุมหนึ่งก็เป็นการออมได้ด้วย เช่น หนี้จากการผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด หรือการซื้อประกันชีวิตในรูปแบบเงินออม ที่มีเงินคืนเมื่อครบอายุกรรมธรรม์ เป็นต้น ในอนาคตหนี้สินรูปแบบนี้จะเปลี่ยนเป็นทรัพย์สิน และยังสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนให้เราได้ เช่น นำบ้านหรือคอนโด ปล่อยเช่า เป็นต้น
3. วางแผนเกษียณ เช็กทรัพย์สิน-ของมีค่า
ส่วนใครตอนทำงานอยู่ เอาแต่ช็อปปิ้งซื้อของใช้ ไม่ได้วางแผนเกษียณเก็บเงินออมไว้ใช้ในบั้นปลาย จนปัจจุบันอายุเข้าสู่วัยเลขห้าแล้ว คงต้องรีบกลับมาตั้งสติ และเริ่มวางแผนการเงิน เก็บออมเงิน ลดการใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือย เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณได้อยู่อย่างสุขสบาย
นอกจากการลดใช้จ่ายหรือซื้อของฟุ่มเฟือยแล้ว คงต้องหันมาดูว่าปัจจุบันเรามีทรัพย์สินหรือสิ่งของอะไรบ้างที่มีค่า สามารถนำมาแปลงเป็นเงินได้บ้าง โดยทรัพย์สินหรือของมีค่านั้นควรจะปลอดหนี้ที่ต้องชำระ เมื่อสำรวจดูแล้ว หากเป็นของใช้ที่ไม่ได้ใช้หรือไม่ต้องการเก็บไว้แล้ว ก็สามารถนำออกมาขายเพื่อแปลงเป็นเงินสดเก็บไว้ หรือนำเอาเงินสดไปลงทุนในรูปแบบอื่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย หรือแม้แต่ของใช้ภายในบ้านที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้แล้ว สามารถนำออกมาขายแปลงเป็นเงินได้ด้วย
4. วางแผนเกษียณ หาทางเพิ่มรายได้
การวางแผนเกษียณเริ่มต้นเก็บเงินตอนอายุ 50 ปี หากพึ่งพาเฉพาะรายได้ที่ได้จากการทำงานประจำเพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะอย่าลืมว่าเรามีหนี้สินและค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ต้องชำระด้วย และที่สำคัญคนที่ก้าวสู่วัยเลขห้า มีระยะเวลาเหลือในการเก็บเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณอีกไม่มากนัก การเพิ่มรายได้จากงานประจำที่ทำจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากรายได้หลัก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพที่ 2 ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้อย่างมากมาย และไม่รบกวนงานประจำด้วย แต่จะเป็นงานอะไรนั้นก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคลว่ามีทักษะ หรือความสามารถด้านใด
...
นอกจากนี้ การหารายได้เพิ่ม ยังสามารถทำได้ด้วยการลงทุนรูปแบบต่างๆ ที่สร้างผลตอบแทน หรือสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย เช่น การปล่อยอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วรูปแบบการหารายได้เพิ่มปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่แค่การทำงานเสริม หรือการทำอาชีพที่ 2 เท่านั้น
5. วางแผนเกษียณ เริ่มต้นเก็บเงิน
หลังจากเราได้ทำตามข้อ 1-4 แล้ว คงต้องเริ่มต้นการวางแผนเกษียณเริ่มต้นเก็บเงิน โดยทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และตั้งเป้าหมายว่าชีวิตหลังจากเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร หรือต้องมีเงินออมจำนวนเท่าไร เพื่อจะได้วางแผนเก็บเงินได้ตามที่ต้องการ ซึ่งรูปแบบการวางแผนเก็บเงินนั้น อาจจะไม่ใช่ในรูปแบบเงินสดอย่างเดียว อาจจะเป็นการซื้อประกันชีวิตที่ได้เงินคืนเมื่อถึงอายุกรมธรรม์ การเก็บเงินในหุ้นกู้ ตราสาร หรือพันธบัตร เป็นต้น ก็สามารถทำได้ทั้งหมด
6. วางแผนเกษียณ ดูแลสุขภาพกาย-สุขภาพใจ
นอกเหนือจากการวางแผนเกษียณด้านการเงินเพื่อใช้ตอนบั้นปลายแล้ว การดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพใจ เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะจะพบว่าค่าใช้จ่ายของคนในช่วงวัยผู้สูงอายุนั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลจากโรคภัยไข้เจ็บสารพัดโรค การทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง มีโรคภัยที่น้อยที่สุด เป็นหนทางช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในยามเกษียณได้อีกทางหนึ่ง แม้ว่าเราอาจจะมีเงินเก็บไม่มากนักก็ตาม
ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 6 วิธี วางแผนเกษียณเริ่มต้นเก็บเงินตอนอายุ 50 ปี เพื่อใช้บั้นปลายที่ทำได้ไม่ยากและทำได้ทุกคน แต่ทางที่ดีควรเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน จะทำให้มีเงินเก็บจำนวนมาก และไม่ต้องรีบร้อนเก็บในช่วงระยะเวลาที่เหลือไม่มากก่อนที่จะเกษียณอายุการทำงานด้วย
...
ข้อมูลอ้างอิง : กองทุนการออมแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพ : iStock