ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวมาสักระยะแล้ว สำหรับปี 2567 เทรนด์ความต้องการของผู้สูงวัยจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง การที่โลกรายล้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและเป็นยุคดิจิทัล ส่งผลต่อวิธีคิดและชีวิตของผู้สูงวัยมากน้อยแค่ไหน
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ได้เผยเทรนด์ 2567 เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยทั่วโลกในเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี พ.ศ. 2489-2507) และเจนเอ็กซ์ (เกิดปี พ.ศ. 2508-2523) ซึ่งอยู่ในช่วงวัยกลางคนที่ต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในไม่ช้า ในบทวิเคราะห์ Trend 2024: REMADE ANEW เกี่ยวกับแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจสร้างสรรค์ ไว้ดังต่อไปนี้
เบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี พ.ศ. 2489-2507)
1. คอนเทนต์ต้องเอาใจวัยเก๋า
นับตั้งแต่หลังวัยเกษียณ เบบี้บูมเมอร์ก็มีเวลามากมายสำหรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับยุคดิจิทัล จนมีเฟซบุ๊กเป็นสื่อโซเชียลที่ครองใจคนกลุ่มนี้เป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก รวมทั้งยังกลายเป็นลูกค้าผู้ทดลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแบบทดลองใช้ฟรีและแบบจ่ายเงินมากกว่า 1.2 พันล้านครั้งต่อเดือน จึงทำให้หลายแบรนด์หันมาลงทุนด้านโฆษณาผ่านแอปพลิเคชันหรือคัดสรรคอนเทนต์เอาใจวัยเก๋ามาไว้บนสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก หรือติ๊กต่อก เพื่อจูงใจบูมเมอร์ให้ตามไปดาวน์โหลดต่อบนแอปพลิเคชัน
...
2. ชอบความอิสระเสมือนอยู่บ้าน
หลายคนต้องการที่อยู่อาศัยในบ้านมากกว่าในสถานพยาบาล หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาล ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่มีอิสระ ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยไม่รู้สึกเหมือนถูกควบคุม รวมทั้งมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไวไฟ เพื่อให้ติดต่อกับเพื่อนฝูงบนโลกโซเชียลได้อย่างอิสระ
3. ทำงานเพื่อคุณค่าของตนเอง
รายงานจาก AARP ระบุว่าบูมเมอร์ถึง 40% วางแผนที่จะ “ทำงานจนกว่าจะตกงาน” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการเงิน หรือการที่พวกเขาไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ในวัยเกษียณ จึงทำให้หลายคนเลือกทำงานจนถึงอายุ 70 ปีปลายๆ โดยงานที่เลือกทำจะต้องเห็นคุณค่าของพนักงาน โดยไม่แบ่งแยกผู้สูงวัยจากคนรุ่นใหม่ และให้เวลาสำหรับการดูแลสุขภาพหรือวันลาสำหรับตรวจสุขภาพเฉพาะบุคคล
4. ที่ปรึกษาผู้มากด้วยประสบการณ์
Senior Opinion Leader หรือ SOL หมายถึงผู้นำความคิดเห็นอาวุโส ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพมายาวนาน เป็นสถานะทางอาชีพที่ทำให้เหล่าบูมเมอร์รู้สึกถึงคุณค่า และได้รับการยอมรับจากสังคม แม้จะไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่การมีตำแหน่งที่ปรึกษาเพื่อเกื้อหนุนกิจการหรือส่งเสริมองค์กรให้ยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จสำหรับคนวัยนี้
5. พร้อมเปย์เพื่อความสุขในชีวิตบั้นปลาย
หลังจากต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมาหลายปีด้วยความวิตกกังวลเรื่องโรคระบาด บูมเมอร์อาจไม่ใช่กลุ่มคนที่ออกไปใช้ชีวิตแบบสุดโต่งเป็นคนแรก แต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะสลัดวิถีชีวิตแบบมัธยัสถ์ และพร้อมจ่ายเงินแบบสุดโต่งมากที่สุดเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในบั้นปลายชีวิต ได้แก่ การลงทุนเพื่อสุขภาพ การลงทุนด้าน
ประสบการณ์การรับประทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยว และกิจกรรมเข้าสังคม โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เริ่ม เปิดใจกับการใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ตู้กดอาหาร และหุ่นยนต์สาธารณะมากขึ้น เพราะสิ่งนี้คือการใช้จ่ายที่ทำให้รู้สึกถึงการเท่าทันโลก
6. อายุเป็นเพียงตัวเลข
การตลาดแบบไม่จำกัดอายุ หรือ Ageless Marketing คือความสบายใจสำหรับบูมเมอร์ที่จะสานฝันกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อน เช่น อิสระในการใช้บริการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ในฟิตเนส การสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นที่ไม่จำกัดอายุหรือมีสีสันที่ฉูดฉาด การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสรีระคนทุกช่วงวัยแม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ตาม โดยต้องคำนึงถึงหลักการยศาสตร์ การทำความสะอาด และการเคลื่อนย้ายที่สะดวกเป็นอันดับแรก การสานฝันนี้อาจรวมถึงการมีตัวตนบนสื่อออนไลน์ อย่างการเป็นครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์ หรือไอดอลผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงแม้จะมีอายุอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม
...
7. ใส่ใจสุขภาพมากกว่าวัยอื่น
ช่วงเวลาของการชะลอวัยในบูมเมอร์มักจะลงทุนให้กับไลฟ์สไตล์ที่ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง งานวิจัยจาก Global State of Mind Index โดย ASICS พบว่าผู้ที่มีอายุ 57-70 ปี จะมีความกระตือรือร้นในการออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 215 นาทีต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเจนซีที่ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 111 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น ความกระตือรือร้นนี้ยังส่งผลถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ อย่างผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก เสริมการนอนหลับ และบำรุงสมอง เพื่อป้องกันอาการของโรคอัลไซเมอร์
8. พร้อมทิ้งโลกโซเชียลเพื่อความสุขทางใจ
...
แม้บูมเมอร์จะชื่นชอบไลฟ์สไตล์ดิจิทัลเพื่อเท่าทันกระแสบนสื่อโซเชียล แต่ในทางกลับกันก็เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาวะทางจิตและอารมณ์เป็นอันดับต้นๆ โดยกิจกรรมที่สามารถปลีกชีวิตออกจากโลกดิจิทัลให้กลายเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนอย่างแท้จริง กิจกรรมที่เหล่าบูมเมอร์โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างให้ความสนใจ นั่นคือการทำสวน ผลผลิตจากธรรมชาติที่มีคุณค่ามากกว่าราคา นำไปสู่ความภาคภูมิใจและสามารถประหยัดต้นทุนการใช้ทรัพยากรได้ คนกลุ่มนี้จะเข้าใจกระบวนการได้มาซึ่งผลผลิตดีกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกสรรสินค้ามารับประทาน โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ไร้สารพิษและดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
เจนเอ็กซ์ (เกิดปี พ.ศ. 2508-2523)
สำหรับคนในช่วงวัยเจนเอ็กซ์ ซึ่งมีอายุระหว่าง 44-59 ปี เป็นช่วงวัยทำงานที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในไม่ช้า ก็มีความสำคัญต่อสังคมไม่น้อยไปกว่ากลุ่มผู้สูงวัยเช่นกัน
1. วัยเดอะแบก พร้อมรับความกดดันรอบด้าน
งานวิจัยของไมเคิล เอส. นอร์ท (Michael S. North) จากสถาบันธุรกิจสเทิร์นมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่าวัยกลางคนมีความกดดันมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งเรื่องการสร้างรายได้ การจัดหาประกันสำหรับครอบครัว ทั้งยังมีความเครียดทางด้านการเงิน เช่น การวางแผนเกษียณอายุที่มั่นคง นอกจากนี้ ข้อมูลบางส่วนยังแสดงให้เห็นว่าเจนเอ็กซ์มีภาระหนี้สินมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ และส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องจากการที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และลูกไปพร้อมๆ กัน
...
2. พัฒนาทักษะเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง
ประสบการณ์จากการอยู่ในกลุ่มแรงงานช่วงเศรษฐกิจตกต่ำต้นทศวรรษ 2533 ภาวะฟองสบู่แตก และวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2551 ทำให้เหล่าเจนเอ็กซ์ตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานเป็นอย่างดี แม้ทุกวันนี้เจนเอ็กซ์หลายคนจะดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น แต่การเลิกจ้างครั้งใหญ่รอบล่าสุดกลับส่งผลกระทบต่อตำแหน่งผู้บริหารอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นหลายคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำด้วยการฝึกฝนทักษะใหม่เพื่อเป็นผู้นำคนสำคัญในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสริมสร้างความไว้วางใจในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไป
3. สื่อต้องเปิดใจรับคนเจนเอ็กซ์
แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของแรงงานสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขากลับไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงบนสื่อ การศึกษาและติดตามผลของ AARP พบว่า 62% ของกลุ่มผู้สูงวัยรู้สึกว่าโฆษณาไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ 47% กล่าวว่า “โฆษณาของคนในวัยเดียวกันกับตนเองกลับส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ล้าสมัย” เช่นเดียวกับเนื้อหาบนสื่อกระแสกระแสหลัก อย่าง ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่นักแสดงหญิงเมื่ออายุ 40 ปีมักถูกผลักให้ได้รับบทเสริมในฐานะแม่หรือภรรยามากกว่าจะเป็นตัวละครหลัก แบรนด์สินค้าหลายแบรนด์และเอเจนซี่ยุคนี้จึงต่างพยายามมองหาวิธีการสื่อสารภาพและข้อความที่สื่อถึงเจนเอ็กซ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งสะท้อนมิติที่หลากหลาย และเน้นย้ำความแอ็กทีฟตามไลฟ์สไตล์ในชีวิตจริงมากที่สุด
4. สินค้าเพื่อสุขภาพต้องปรับตัวให้เข้ากับช่วงวัยที่เปลี่ยนไป
แบรนด์สุขภาพของผู้หญิงกำลังขยายไปสู่ความงาม โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาผิว เส้นผม และหนังศีรษะ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนผู้หญิงมากกว่า 1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะหมดประจำเดือนในทุกปี ภายในปี 2568 คาดว่าตัวเลขของสตรีในกลุ่มดังกล่าวจะแตะ 1.1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนพร้อมสำหรับการขยายตัว สถิติที่เกิดขึ้นกำลังช่วยอธิบายถึงแนวโน้มเชิงบวกของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความสะดวกสบาย สุขภาวะทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของเหล่าเจนเอ็กซ์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกช่วงวัย
5. ช็อปปิ้งที่หน้าร้านยังสำคัญ
49% ของเจนเอ็กซ์นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จริง ในขณะที่ 51% นิยมซื้อผ่านออนไลน์ ส่วนใหญ่เพื่อความสะดวกสบาย แม้ตัวเลขค่าเฉลี่ยในการซื้อจะใกล้เคียงกัน แต่พบรายงานความถี่ในการจับจ่ายของผู้บริโภคในร้านค้าและออนไลน์ที่แตกต่างกัน โดยผู้บริโภคในร้านค้ามักจะจับจ่ายสินค้าความงามทุกเดือน เมื่อเทียบกับการช็อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคที่เฉลี่ยเพียงไตรมาสละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่ใช้จ่ายราว 60 ดอลลาร์สหรัฐ ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง โดย 1 ใน 4 จะใช้จ่ายมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยได้อย่างชัดเจน
ภาพ : iStock