เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมใจไว้ก็คือการจากลาตามอายุขัยที่เป็นไปตามธรรมชาติ สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต คือหนึ่งตัวช่วยที่ให้ผู้สูงวัยใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแก่คนใกล้ตัว ถึงความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตได้
สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต คืออะไร
สมุดเบาใจ เป็นสมุดพินัยกรรมชีวิตขนาดเหมาะมือ ที่ช่วยให้เราได้กรอกความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ความต้องการในด้านต่างๆ ถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น
- การรักษาพยาบาลเมื่อเราเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
- การดูแลเพื่อความสุขสบายกาย
- ความต้องการที่จะให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร
- ใครจะเป็นผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพของเรา หากเราป่วยหนัก และไม่สามารถสื่อสารได้
- การจัดการร่างกาย และงานศพ
คำถามต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราได้วางแผน และสื่อสารกับคนใกล้ชิด ครอบครัว และทีมแพทย์ที่จะสามารถตัดสินใจในเรื่องของการดูแลและการรักษาให้ตรงกับความต้องการของเราได้มากที่สุด รวมถึงการวางแผนหลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว ว่าเราจะจัดการกับร่างกาย และงานศพอย่างไร เพื่อให้เราสบายใจได้ว่าไม่เป็นภาระของคนใกล้ตัว
สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต คือรูปแบบหนึ่งของเอกสารแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้าย และการตายดี ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ที่มีส่วนหนึ่งระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
...
เนื้อหาในสมุดเบาใจจะครอบคลุม 5 ประเด็น คือ
- การกู้ชีพ เมื่อเจ็บป่วยระยะสุดท้ายต้องการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างไร ให้แพทย์ปั๊มหัวใจ เจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ หรือไม่
- ความสุขสบายที่ต้องการ จะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อยากกลับบ้านอยู่กับครอบครัว หรือใช้ยาระงับความเจ็บปวดระดับใด
- การปฏิบัติจากคนอื่นๆ ที่ต้องการ ขอให้เราตายอย่างสงบไม่เร่งหรือยืดออกไป การได้ระลึกถึงสิ่งดีงาม สัมผัสสุดท้ายและโอบกอดจากคนที่รัก ฯลฯ
- การจัดการร่างกาย และงานศพ ขอให้คนข้างหลังช่วยบริจาคอวัยวะ หรือจัดฌาปนกิจเรียบง่ายประการใด
- ผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ ระบุรายละเอียดให้ชัดว่าสุดท้ายแล้วใครคือผู้จะบอกแพทย์ว่ารักษาได้แค่ไหน ภายใต้เจตนารมณ์ของผู้ป่วย
ดังนั้น สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต จึงเปรียบเสมือนการวางแผนรักษาล่วงหน้า เพื่อความชัดเจนในการรักษา เมื่อภาวะสุดท้ายมาถึง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่มีแผนไปสู่การตายดี
ทั้งนี้ สมุดเบาใจ จัดทำโดยกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มคนที่สนับสนุน “การอยู่ดีและตายดี” ให้เป็นนิยามง่ายๆ ของผู้คนในสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือการสื่อสาร เรียนรู้ และจัดกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ข้อมูลอ้างอิง : Peaceful Death, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)