วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ หากเราต้องการบอกรักผู้สูงวัยคนใกล้ตัว มีวิธีไหนได้บ้าง
องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2534 โดยความหมายของผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566 ได้เริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจ คือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายพันคน
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมักคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่น อาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย ส่งผลให้พวกเขาเผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม โดยผลวิจัยชี้ว่า ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง 7.5 ปี การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
...
5 วิธีบอกรักผู้สูงอายุ ต่อชีวิตให้ยืนยาวอย่างมีความสุข
สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นผู้สูงอายุ เราสามารถช่วยเยียวยาจิตใจให้พวกเขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขได้ โดยวิธีบอกรักผู้สูงวัยมีหลายวิธีด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. พาผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
การชวนผู้สูงวัยไปทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกันคือวิธีการบอกรักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น พาไปกินอาหารร้านโปรด พาไปเที่ยวที่เขาคุ้นเคยและชื่นชอบ ชวนดูหนังดูละครที่ผู้สูงอายุชอบแล้วย้อนเวลารำลึกความหลังไปด้วยกัน หากพ่อแม่ใครชอบกิจกรรมทำอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ลูกหลานลองเปิดใจให้เวลาเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถและยังมีคุณค่าสำหรับคนรอบข้างเสมอ
2. ชวนผู้สูงอายุออกกำลังกาย
การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงจะช่วยให้ชีวิตยืนยาวขึ้น หากผู้สูงอายุในครอบครัวยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ลองชวนออกกำลังกายด้วยกันเบาๆ เช่น โยคะ แอโรบิก เดินรอบสวนสาธารณะ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที-1 ชั่วโมง นอกจากจะได้ใช้เวลาร่วมกันแล้ว ยังช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อของผู้สูงวัยแข็งแรงขึ้น เลือดลมสูบฉีด ไม่เจ็บป่วยง่ายอีกด้วย
3. ควรให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เมื่ออายุมากขึ้น และไม่ได้รับผิดชอบในหน้าที่มากเท่าในอดีต คุณค่าและบทบาทของผู้สูงอายุจะถูกลดทอนลง จนบางครั้งกลายเป็นถูกละเลยความสำคัญ สร้างความทุกข์ใจให้กับผู้สูงอายุ บางรายอาจเกิดความน้อยใจ ซึมเศร้าลง และมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูง ดังนั้นการให้ผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจในบางเรื่อง หรือให้ผู้สูงอายุช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาชอบและมีความถนัด ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น
4. พาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี หรืออย่างน้อยทุก 2 ปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และค้นหาโรคเพื่อวางแผนการรักษาในระยะแรกเริ่ม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคมะเร็ง
5. แสดงความรักต่อกันบ่อยๆ
นอกจากการพาผู้สูงอายุไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบแล้ว การพูดคุยบอกรัก การสัมผัสโอบกอด การดูแลเอาใจใส่กันและกัน สอบถามความสุขทุกข์ เรื่องราวชีวิตประจำวันต่างๆ หรือมีสิ่งพิเศษเล็กๆ น้อยๆ มอบให้กันในโอกาสสำคัญต่างๆ ก็เป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพัน แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย และเป็นกำลังใจให้กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
...
ทั้งหมดนี้คือวิธีบอกรักผู้สูงอายุที่ช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ยังเป็นคนสำคัญและเป็นที่ต้องการของลูกหลานอยู่เสมอ นอกจากนี้เราสามารถบอกรักกันได้ทุกวัน ไม่จำเป็นต้องมีวันหรือโอกาสพิเศษเท่านั้น เพราะเวลาที่ผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตร่วมกับเราสั้นลงไปทุกวัน การแสดงความรักต่อกันจึงไม่มีคำว่าสายเกินไป
อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลพญาไท