ผู้สูงอายุหกล้ม อุบัติเหตุที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่ไม่เล็กสำหรับผู้สูงวัย เพราะการหกล้มของผู้สูงอายุส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด และอาจส่งผลถึงชีวิตของผู้สูงวัยในระยะยาวอีกด้วย แต่เราสามารถป้องกันอุบัติเหตุนี้ได้
ผู้สูงอายุหกล้ม มีสาเหตุจากอะไร
ปัญหาหกล้มในผู้สูงอายุมีอันตรายกว่าคนวัยอื่นหลายเท่าตัว และในผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงและทรงตัวได้ไม่ดีพอ โดยในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% ไม่เพียงเท่านั้น จากสถิติเกี่ยวกับการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย
ผู้สูงอายุหกล้มส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
หากผู้สูงอายุหกล้ม จะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ศีรษะ ฯลฯ เกิดการกระแทก และมีอาการบาดเจ็บตามมา อาจบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงบาดเจ็บรุนแรง และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต โดยปัญหาการหกล้มเกิดมากกับผู้สูงอายุ และมีความอันตรายมากกว่าคนวัยอื่น จากสถิติยังพบว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย 3 คนต่อวัน แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม
นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายภายนอกของผู้สูงอายุแล้ว การที่ผู้สูงอายุหกล้มยังส่งผลกระทบถึงจิตใจของผู้สูงอายุเองด้วย เพราะทำให้เกิดความกังวล ขาดความมั่นใจในการเดิน กลัวการหกล้ม อาจเกิดภาวะซึมเศร้าทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจของคนรอบข้าง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปอีก
...
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม
สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
1. ปัจจัยภายในที่มาจากร่างกายของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย โรคประจำตัว ผลข้างเคียงจากการกินยารักษาบางชนิด
- สมองประมวลผลช้าลง คิดช้า การตัดสินใจช้า
- ปฏิกิริยาตอบสนองช้า การเคลื่อนไหวช้าลง
- สายตาไม่ดี
- หน้ามืดวิงเวียนง่าย
- กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอ่อนแอลง ข้อต่อตึงแข็ง ไม่คล่องตัวเหมือนก่อน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เมื่อรีบเข้าห้องน้ำทำให้เสี่ยงหกล้มง่าย
- การกินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยารักษาอาการชักและปวดเส้นประสาท ยาคลายวิตกกังวล ยานอนหลับ ยารักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุน ยารักษาปัสสาวะขัด ยารักษาอาการทางจิต
- โรคที่มักจะมาเยือนเมื่อถึงวัยสูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน ฯลฯ
2. ปัจจัยภายนอกมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวผู้สูงอายุ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบากกว่าคนวัยหนุ่มสาว และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการหกล้มได้ง่าย
- พื้น : ลื่น ขรุขระ ต่างระดับ มีธรณีประตู ทางเดินลาดชันมาก มีน้ำขัง
- บันได : ขึ้นลงไม่สะดวก วางของกีดขวางทาง
- มีสิ่งกีดขวางทางเดิน : โต๊ะเก้าอี้ที่มีส่วนยื่นออกมา พรมเช็ดเท้า สายไฟ บ้านรกวางของระเกะระกะบนพื้น
- แสงสว่างไม่เพียงพอ : บริเวณที่ใช้งานหรือเดินผ่านเป็นประจำ โดยเฉพาะ บันได
- เก็บของไว้ที่สูง : ต้องเอื้อมหยิบหรือใช้เก้าอี้ปีน
- สัตว์เลี้ยง : นอนขวางทางเดิน กระโจนใส่
- กระจกใสขนาดใหญ่ : อาจเดินชน
- มีบ่อน้ำ : หกล้มตกบ่อ
ผู้สูงอายุหกล้ม ป้องกันได้ก่อนสายเกินแก้
แม้ว่าผู้สูงอายุหกล้มจะเป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เราก็มีวิธีป้องกันเบื้องต้นได้ ทั้งในด้านปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังต่อไปนี้
ป้องกันผู้สูงอายุหกล้มจากปัจจัยภายใน
ดูแลสุขภาพร่างกาย
- นอนหลับพักผ่อน กินอาหารให้พอเพียงและกินเป็นเวลา เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลม
- ออกกำลังกาย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก สร้างความยืดหยุ่นข้อต่อ และช่วยให้การทรงตัวดี ถ้ามีปัญหาสุขภาพปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม
- ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น ควบคุมระดับความดันโลหิต ควบคุมเบาหวานโดยการคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ระมัดระวังการกินยา สอบถามกับแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา
...
ระมัดระวังการเคลื่อนไหว
- มีสมาธิใส่ใจในสิ่งที่ทำ ทำทีละเรื่อง
- อย่ารีบร้อนเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ค่อยๆ ลุกจากเตียง ดูเก้าอี้ก่อนนั่ง เดิน ไม่วิ่ง
- มองก่อนก้าวขึ้น-ลง ดูสภาพพื้นก่อนก้าวเดิน
- งดปีนป่ายหยิบของจากที่สูง หรือปีนซ่อมแซมบ้าน ตัดต้นไม้
ป้องกันผู้สูงอายุหกล้มจากปัจจัยภายนอก
ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
1. ห้องนอน
- ไม่นอนบนพื้น อาจปวดข้อ หรือวิงเวียนหน้ามืด ทำให้เสียการทรงตัว
- ใช้เตียงสูงระดับข้อพับเข่าเพื่อลุกนั่งสะดวก ไม่มีขอบแหลมคม ฟูกไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป
- สวิตช์ไฟเปิดปิดสะดวก อยู่ในจุดใกล้เตียงนอน ใกล้ประตู
- อยู่ชั้นล่าง เพื่อเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
- มีบริเวณเดินสะดวก
...
2. ห้องน้ำ
- พื้นต้องไม่ลื่น
- มีราวจับตามจุดต่างๆ
- อุปกรณ์ใช้งานสะดวก
- ประตูเปิดออกด้านนอก หรือใช้บานเลื่อน
3. ห้องครัว
- อุปกรณ์การใช้งานต่างๆ หยิบได้ง่าย ไม่ต้องก้ม เอื้อมไกล หรือเอื้อมข้ามเตา
- มีเก้าอี้ให้นั่งพัก
- แสงสว่างพอเพียง
- พื้นไม่ลื่น
4. ห้องนั่งเล่น
- เครื่องเรือนมีความแข็งแรงมั่นคง ไม่มีส่วนใดยื่นออกมา งดใช้เก้าอี้โยก
5. สภาพแวดล้อมในบ้าน
- พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่ขรุขระ ไม่ใช้พื้นต่างระดับ ไม่มีธรณีประตู ทางไม่มีจุดลาดชันมากเกินไป ไม่มีน้ำขัง
- จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่มีของวางกีดขวางทางเดิน พรม หรือสายไฟบนพื้น
- ติดไฟให้มีแสงสว่างมองเห็นชัดในจุดที่มักละเลย เช่น บันได และทางเดิน
- บันได ไม่วางสิ่งของ มีราวจับ
- ติดราวจับช่วยพยุงตัวภายในห้องน้ำ หรือภายในบ้าน ตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้สูงอายุ
...
6. อื่นๆ
- ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น สวมแว่นสายตา ไม้เท้าช่วยพยุง ไม้ช่วยใส่รองเท้า เครื่องช่วยฟัง ติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ติดอุปกรณ์กันกระแทก
- ใช้เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ที่ช่วยให้มีความคล่องตัว ใส่สบาย ไม่มีการตกแต่งรุงรัง หรือมีน้ำหนักมาก
ข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, CaregiverThai.com