ประกันสังคม เกษียณอายุ 55 ปีได้เท่าไร มีวิธีคำนวณเงินชราภาพอย่างไร มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อะไรบ้าง

ผู้ประกันตน มาตรา 33 (ม.33) ที่เกษียณอายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินกรณีชราภาพได้ โดยการรับเงินชราภาพแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • ผู้ประกันตนชำระเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงิน “บำเหน็จชราภาพ” รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
  • ผู้ประกันตนชำระเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงิน “บำนาญชราภาพ” เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีอายุเกิน 55 ปี ซึ่งยังคงมีนายจ้าง ที่ยังคงจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

ประกันสังคม เกษียณอายุ 55 ปีได้เท่าไร

เงินชราภาพประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจะได้รับมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ โดยมีเงื่อนไขเงินชราภาพประกันสังคม พร้อมสูตรคำนวณแบบง่ายๆ ดังนี้

เงินบำเหน็จชราภาพ

  1. จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม
  2. จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
  3. กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย ภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

...

สูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ

  • กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1-11 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว
  • กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-179 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน

เงินบำนาญชราภาพ

  1. จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  2. จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน

สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ

  • ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ (บวกจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มให้อีกปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์)

เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย เงินชราภาพประกันสังคม

การรับเงินบำเหน็จ

  • ข้อดี ได้เงินก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
  • ข้อเสีย จะได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืนอาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต

การรับเงินบำนาญ

  • ข้อดี ได้เงินมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
  • ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุนหากมีความต้องการ

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม, กองทุนประกันสังคม, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ภาพ : iStock