ผู้สูงอายุกับการกินอาหาร เป็นช่วงวัยที่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารบางประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้สูงอายุได้ มีอาหารประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยงบ้าง

เรื่องอาหารและโภชนาการในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งจำเป็นและต้องให้ความสำคัญ ไม่แพ้กับการดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บในผู้สูงอายุเลย เพราะผู้สูงอายุมักจะประสบปัญหาเรื่องภาวะเบื่ออาหาร การขาดสารอาหาร การกินอาหารแล้วไม่ย่อย ปัญหาท้องอืด ปัญหาท้องผูก และอีกสารพัดปัญหาที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ตัวผู้สูงอายุเอง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการเป็นอย่างดี

โดยอาหารและโภชนาการ นอกเหนือจากผู้สูงอายุต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสม มีคุณภาพ และต้องครบถ้วน 5 หมู่แล้ว ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่มีประโยชน์ แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการกินในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งผู้สูงอายุควรควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายหรือเกิดปัญหาจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุมีดังนี้

10 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ

1. อาหารรสจัด

อาหารรสจัดไม่ว่าจะเป็นรสเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด ไม่ดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีความอ่อนไหวต่อรสชาติของอาหาร อาจจะทำให้ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ง่าย อาหารรสจัดยังไม่ดีต่อผู้สูงอายุที่มักจะเป็นโรคไขมัน โรคไต เบาหวาน และความดันด้วย จึงเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ

2. อาหารไขมันสูง

แม้ว่าไขมันเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ แต่การกินอาหารไขมันสูง อาหารทอด หรืออาหารผัด ซึ่งมีไขมันมาก ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เพราะอาจจะทำให้มีไขมันในเลือดสูง เกิดภาวะโคเลสเตอรอลสะสมในหลอดเลือด เกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้

...

3. อาหารเคี้ยวยาก-กลืนลำบาก

ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาฟันไม่แข็งแรง หรือฟันหลุดร่วง ส่งผลด้านการบดเคี้ยวอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก รวมถึงภาวะการกลืนยาก ดังนั้น อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นอาหารประเภทเคี้ยวยาก ชิ้นใหญ่ และกลืนลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์เหนียว ผักหรือผลไม้เนื้อแข็ง อาหารที่อาจติดคอได้ง่าย เช่น ขนมเหนียวๆ สาหร่าย อาหารเส้นที่มีขนาดยาวๆ เป็นต้น

4. ของหวาน-ผลไม้รสชาติหวานจัด

ผู้สูงอายุชอบอาหารที่มีรสหวาน ไม่ว่าจะเป็น ขนมหวาน หรือผลไม้รสหวาน ซึ่งความเป็นจริงผู้สูงอายุยังสามารถกินได้ แต่ควรกินในปริมาณเล็กน้อย และไม่ควรกินบ่อย เพราะอาหารรสหวานไม่ดีต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อาจจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

5. อาหารหมักดอง-ของแปรรูป

อาหารหมักดอง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น แหนม เต้าหู้ยี้ ผักดอง ผลไม้ดอง นอกจากมีคุณค่าทางอาหารน้อย ยังไม่ดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดปัญหาท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้ หรือปัญหาระบบทางเดินอาหารได้มากมายด้วย

6. อาหารฟาสต์ฟู้ด

อาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นอาหารจานด่วนที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะคุณค่าทางโภชนาการมีน้อย แถมอาหารบางอย่างยังมีปริมาณโซเดียมสูง ไขมันสูง เป็นอันตรายร่างกาย จึงเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ

7. ขนมกรุบกรอบ-สแน็ค

สำหรับอาหารประเภทสแน็ค และขนมกรุบกรอบ ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว บางอย่างก็เคี้ยวยาก กลืนลำบาก อาจติดคอผู้สูงอายุได้ และขนมพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีโซเดียมสูง หรือไม่ก็มีน้ำตาลสูงด้วย

8. อาหารสุกๆ ดิบๆ

อาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงต่อการปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจจะเกิดอาหารเป็นพิษได้ง่าย แถมการเคี้ยวและกลืนก็ลำบาก คือ อาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือเนื้อเหนียว โดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ ผู้สูงอายุควรจะกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด สดใหม่

...

9. อาหาร-เครื่องดื่มมีคาเฟอีน

อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อาจจะส่งผลต่อระบบการนอนหลับของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก แถมยังอาจจะกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ส่งผลต่อระบบประสาท อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย จึงเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุเช่นกัน

10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด ผู้สูงอายุไม่ควรดื่ม เพราะส่งผลเสียต่อผู้สูงอายุได้มากกว่าคนวัยอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีความเสื่อมของร่างกายมากที่สุด แม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลเสีย ทั้งระบบสมอง การทรงตัว อาจจะมีปัญหาการหกล้ม เกิดอุบัติเหตุตามมาอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 10 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้สูงอายุไม่ควรกิน หรืออาหารบางอย่างอาจจะต้องจำกัดปริมาณการกินให้มีปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งแม้ว่าจะมีอาหารมากมายต้องหลีกเลี่ยง แต่ผู้สูงอายุยังคงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความจำเป็น และในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

...

ข้อมูลอ้างอิง: กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, กระทรวงสาธารณสุข