ประชากรไทยปี 2566 กว่าครึ่งประเทศ มีอายุตั้งแต่ 40 ปี 2 เดือน จัดเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีค่าอายุมัธยฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลก ที่มีค่าอายุมัธยฐานเพียง 30 ปี 5 เดือน
ตัวเลขอายุ 40 ปี 2 เดือนนี้ เป็นอายุมัธยฐาน หรือ Median Age ของประชากรไทยปี 2566 หรือปี 2023 ซึ่งตัวเลข 40 ปี 2 เดือน คืออายุตรงกลาง ระหว่างประชากรสองส่วนที่แบ่งออกเป็นจำนวนเท่าๆ กัน ส่วนหนึ่งมีอายุน้อยกว่า 40 ปี 2 เดือน และอีกส่วนหนึ่งมีอายุมากกว่า 40 ปี 2 เดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากองค์กร Our World in Data ที่ได้รวบรวมตัวเลขอายุของประชากรทั่วโลกไว้ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งพบว่าอายุมัธยฐานของทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี 5 เดือนเท่านั้น
หากเปรียบเทียบไทยกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่า ในปี 2023 ไทยมีตัวเลขอายุมัธยฐานสูงเป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ ที่มีตัวเลขอายุมัธยฐานสูงถึง 42 ปี 8 เดือน ขณะที่แนวโน้มในปี 2071 ประชากรไทยอายุมัธยฐานอยู่ที่ 54 ปี 5 เดือน แซงหน้าสิงคโปร์ที่มีอายุ 54 ปี 2 เดือน
โดยสรุปแล้วข้อมูลอายุมัธยฐาน บ่งบอกความสำคัญของโครงสร้างประชากรที่มีองค์ประกอบในวัยต่างๆ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุไว้ว่า กรณีอายุมัธยฐานต่ำกว่า 20 ปี ถือเป็นประชากรวัยเยาว์ (Young population) กรณีอายุมัธยฐาน 20-29 ปี ถือเป็นประชากรวัยกลาง (Median aged population) และหากอายุมัธยฐาน 30 ปี ขึ้นไป ถือเป็นประชากรสูงอายุ (Aged population)
สาเหตุที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุในไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับประชากรในวัยอื่นๆ เพราะประชากรเกิดใหม่ลดลง จากจำนวนปีละ 1 ล้านคนในช่วง 40 ปีที่แล้ว เหลือเพียงปีละประมาณ 5-6 แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่มีประชากรไทยเกิดใหม่ปีละ 1 ล้านคน หรือที่เรียกกันว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” อยู่ในช่วงปี 2506-2526 ดังนั้นในปี 2566 นี้ กลุ่มนี้จะมีอายุมากสุดคือ 60 ปี และน้อยสุดคือ 40 ปีในปัจจุบัน
...
ศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ตัวเลขอายุมัธยฐานเป็นตัวเลขอายุที่แบ่งประชากรออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน โดยครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุน้อยกว่าอายุมัธยฐาน อีกครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า
ตัวเลขอายุมัธยฐานนี้เป็นดัชนีสะท้อนว่าสังคมนั้นๆ เป็นสังคมวัยเยาว์ วัยกลาง หรือสูงอายุ สำหรับสังคมไทยที่อยู่ในเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุนั้น เป็นเรื่องเกิดขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ความสำคัญจึงเป็นเรื่องการเตรียมพร้อมทั้งในระดับนโยบายและการวางแผนของหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยนับจากนี้