ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าวัยอื่นๆ มีงานวิจัยพบว่าการให้ผู้สูงอายุเล่นบอร์ดเกม (Board Game) หรือเกมกระดาน เพื่อกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้

จากการเปิดเผยของ รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า 6 ใน 10 ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ และมีการประมาณการว่าปัจจุบันในไทยมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอยู่จำนวน 600,000 คน ผู้ที่มีอายุระหว่าง 65-70 ปี มีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 1-2 และมีโอกาสพบ หรือมีความชุกของโรคเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ ช่วงอายุ 5 ปีที่เพิ่มขึ้น

โรคอัลไซเมอร์ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ (Super Age Society) ในปี 2574 ที่ร้อยละ 28 ของประชากรจะเป็นผู้สูงวัย ผลกระทบที่ตามมาคือโรคนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวผู้ป่วย เพราะมีผลต่อผู้ดูแลที่ต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงสูง และคนที่มีการศึกษาน้อยมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่มีการศึกษาสูง อาจด้วยคนกลุ่มหลังมีแนวโน้มที่จะทำงานที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์มากกว่า ทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น บาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุม ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มสุราเกินมาตรฐานคือ 21 แก้วต่อสัปดาห์ หากเป็นโรคอ้วนในวัยกลางคนก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้ รวมถึงการขาดกิจกรรมที่ทำให้สมองได้ออกกำลังกาย ดังนั้นการทำให้สมองมีการตื่นตัว มีกิจกรรมที่บริหารสมองให้สมองได้ทำงาน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย

...

บอร์ดเกม กระตุ้นสมองผู้สูงอายุ

จากงานวิจัยกึ่งทดลอง “ผลของโปรแกรมเกมกระดานบริหารสมองต่อการรู้คิดในผู้สูงอายุ” ที่เผยแพร่ในพยาบาลสาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า กิจกรรมการเล่นบอร์ดเกมสามารถกระตุ้นการรู้คิดผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ทำงานเชื่อมโยงร่วมกับการคิดและจิตวิญญาณ การกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ใส่ใจ การคิดตัดสินใจ ทบทวนความจำ และมิติสัมพันธ์ ตามโปรแกรมบริหารสมอง ส่งผลให้สมองมีการเจริญเติบโต

เกมกระดาน หรือบอร์ดเกม จึงเป็นกิจกรรมที่นิยมนำมาใช้กับการบริหารสมองผู้สูงวัยเพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกมยุคเก่าที่ผู้สูงวัยคุ้นเคยอย่างหมากล้อม หมากรุก เกมเศรษฐี หรือบอร์ดเกมยุคใหม่หลายๆ เกม ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีไม่แพ้กัน

นอกจากการเล่นบอร์ดเกมที่ต้องอาศัยมือในการหยิบจับ ได้ลับสมองในการวางแผน การจดจำ การคิดคะแนน ทำให้สมองได้ทำงานแล้ว ยังทำให้เกิดความสนุก และเกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะคนวัยเดียวกัน หรือลูกหลานที่นิยมบอร์ดเกมยุคใหม่ เป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้เป็นอย่างดี

5 บอร์ดเกม ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

สำหรับบอร์ดเกมที่ให้ความสนุก เหมาะกับทุกเพศทุกวัยรวมถึงผู้สูงอายุ เหมาะแก่การชวนคนรุ่นใหญ่วัยเก๋ามาล้อมวงทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างวัย และฝึกสมองไปด้วยกัน มีดังต่อไปนี้

1. เกมต่อรถไฟ Ticket to Ride 

มีกติกาไม่ซับซ้อน ได้ทั้งการวางแผน แข่งขัน และอาศัยดวงเข้าช่วย ทำให้สนุกกับการลุ้นระหว่างจั่วการ์ดไปด้วย

2. เกม Cascadia

เป็นเกมแนว Puzzle ที่พาชีวิตกลับไปสู่ธรรมชาติ ผู้เล่นจะต้องเป็นผู้กอบกู้ธรรมชาติ ด้วยการสร้างระบบนิเวศให้กับบรรดาสัตว์ต่างๆ ได้อยู่อาศัย แข่งขันกันสร้างป่าที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมา

3. เกม Pandamic

เป็นเกมเกี่ยวกับโรคระบาด ผู้เล่นทั้งสี่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมโรคร้ายแรง และต้องคิดหาวิธีในการรักษาโรคร้ายแรงร่วมกันให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

ข้อดีของบอร์ดเกมคือสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนทุกรุ่น
ข้อดีของบอร์ดเกมคือสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนทุกรุ่น

...

4. เกม Ultimate Werewolf Deluxe

เป็นเกมจิตวิทยาระดับขึ้นหิ้ง ผู้เล่นจะเล่นเป็นชาวบ้านและผู้มีพลังวิเศษที่ต้องสืบหาและออกล่าผู้เล่นที่เป็นมนุษย์หมาป่าแฝงตัวมาหาเหยื่อในหมู่บ้านให้ได้ก่อนตะวันตกดิน

5. เกม Catan หรือนักบุกเบิกแห่งคาทาน

ที่ค้นพบเกาะใหม่ที่ไม่มีผู้อาศัย การเล่นคือจะต้องอพยพคนของตัวเองไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะ ต้องทอยลูกเต๋าเพื่อสร้างทรัพยากรให้กับที่อยู่ของตัวเอง ความสนุกอยู่ที่การแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน และต้องคอยระวังโจรที่จะคอยปล้นเอาของไปด้วย

ทั้งนี้การเล่นบอร์ดเกมยังทำให้ผู้ดูแลยังมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น เพราะได้เรียนรู้วิธีรับมือกับผู้ป่วยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ใช่แค่ระหว่างผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ดูแลด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งคู่

รศ.นพ.สุขเจริญ เผยว่า ในอนาคตศูนย์ฯ มีแผนจะฝึกสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์รายบุคคลเพิ่มเติมสำหรับรายที่มีปัญหาทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมกลุ่มได้ รวมทั้งจะพัฒนาแพลตฟอร์มบริการออนไลน์โดยใช้อุปกรณ์เสมือนจริงและนวัตกรรมอื่นๆ ร่วมกับหน่วยวิจัยความบกพร่องทางสติปัญญาและภาวะสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมเปิดหลักสูตรออนไลน์สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอย่างมืออาชีพ
อัลไซเมอร์ป้องกันได้ก่อนจะสายเกินไป

ขณะเดียวกัน เขายังย้ำหลักฐานจากงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าเราสามารถชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณไม่อยากเป็นโรคสมองเสื่อม และอยากมีสมองที่สดใสอยู่เสมอ คุณต้องเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย นำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาพที่ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี ดูแลเรื่องสุขภาพส่วนบุคคล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสารเสพติด และงดเหล้า งดบุหรี่ นอนหลับสบาย เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ทำกิจกรรมยามว่าง ฝึกสมาธิ” รศ.นพ.สุขเจริญ แนะ

...

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วันโรคสมองเสื่อม จึงได้จัดตั้ง “Bright Brain Club” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปรู้จัก เข้าใจ และมีทักษะในการดูแลตนเอง สุขภาพจิต และสมอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

“ชมรมนี้จัดตั้งขึ้นโดยไม่มีค่าสมาชิกสำหรับทุกคนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เพราะคนวัยนี้ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุเริ่มมีอาการเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะที่เราต้องการให้พวกเขาเริ่มให้ความสนใจตั้งแต่ตอนนี้ ที่สำคัญบางคนที่มีความเครียด ซึมเศร้า จากการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต ดังนั้นทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพสมองให้ดีก่อนที่จะสายเกินไป”

ชมรมสมองแจ่มใสเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วันโรคสมองเสื่อม ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 อาคาร สท. ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณพันกว่าคน สมาชิกสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมปกติของสโมสรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาเกี่ยวกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต การฉายภาพยนตร์และการอภิปรายภายหลัง หรือฟังสื่อเสียงผ่านพอดแคสต์ หรือยูทูบ

...

“เราอยากสนับสนุนให้ผู้สูงอายุป้องกันภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการดูแลตัวเอง ใส่ใจสุขภาพกายและใจ เพื่อลดภาระให้กับคนที่เขารัก สังคม และประเทศชาติในอนาคต มาร่วมเป็นสมาชิกชมรมของเรา” รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าว.

ข้อมูลอ้างอิง: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย