โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ค่อยขยับร่างกาย ส่งผลเสียอย่างไรบ้างในระยะยาว
โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) คืออะไร
เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงผู้สูงวัย นอกจากโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังสำหรับผู้สูงอายุคือ โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ที่ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และอัตราเร็วของการเดินลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุลดลงไปด้วย และยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
...
ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ สามารถพบได้บ่อยในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อจะเริ่มลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป มวลกล้ามเนื้อจะลดลงถึงร้อยละ 3 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน ลักษณะที่สังเกตได้เด่นชัดคือ มีแขนขาที่ลีบเล็ก และอ่อนแรงลง เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคซาร์โคเพเนียโดยไม่รู้ตัว
อาการโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)
สำหรับอาการของโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ลุกนั่งลำบาก
- ทรงตัวไม่ดี
- หกล้มบ่อยๆ
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ
- เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก ภาวะเปราะบาง
- เหนื่อยง่ายจนจำกัดความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน
- คุณภาพชีวิตลดลง
- อาจเกิดโรคซึมเศร้า
- เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
การวินิจฉัยโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)
แม้ว่าผู้ป่วยโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะแขนขาที่ลีบเล็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีรูปร่างผอมบางทุกคนจะป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีวิธีการประเมินและวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้เครื่องมือประเมินมวลกล้ามเนื้อ Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) หากได้ค่าน้อยกว่า 7.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศชาย และน้อยกว่า 5.7 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศหญิง จึงจะถือว่าเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)
นอกจากนี้จะต้องส่งต่อให้นักกายภาพประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยทดสอบจากการนั่ง-ลุก-ยืน-เดิน และการวัดความเร็วในการเดิน พร้อมใช้เครื่องวัดแรงบีบมือ (Hand-Grip Strength) ในการทดสอบ จะต้องมีแรงบีบไม่ต่ำกว่า 26 กิโลกรัมในเพศชาย และไม่ต่ำกว่า 18 กิโลกรัมในเพศหญิง
วิธีป้องกันโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้มวลกล้ามเนื้อสลายไปตามวัย แต่ก็สามารถป้องกันได้
...
- พยายามยืนและเดินให้มากขึ้น โดยนั่งหรือนอนเท่าที่จำเป็น
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมควบคุมอาหารไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของหลายๆ โรครวมถึงโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ด้วย
- วิธีออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้สูงอายุคือ การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพราะไม่ทำให้เจ็บเข่า
- ผู้สูงอายุที่ยังมีเรี่ยวแรงควรทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น เพราะการมีผู้ช่วยคอยดูแล คอยพยุง ก็จะทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วย
- สำหรับผู้สูงวัยที่สามารถยืนและเดินได้ด้วยตัวเอง ให้พยายามยืนขึ้นแล้วฝึกใช้มือและแขนดันผนังในแนวตั้ง โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงกด หากทำเป็นประจำจะทำให้กำลังแขนแข็งแรงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์พิเศษมาใช้ให้สิ้นเปลือง
- ส่วนผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ให้พยายามใช้มือและแขนพยุงตัวให้ลุกขึ้นเดินด้วยตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อเข่า ขา และเท้าได้เคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนอื่นๆ รวมทั้งมือ แขน หลัง ไหล่ และสะโพก ให้เคลื่อนไหวตามไปด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคซาร์โคเพเนีย
...
สำหรับการป้องกันโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) นี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะการได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในระยะยาวได้
ข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์จังหวัดนครสวรรค์, โรงพยาบาลกรุงเทพ