ชวนวิเคราะห์เงินเดือน เงินเก็บ และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ว่าควรใช้เงินอย่างไร ออมเงินเท่าไรต่อเดือน ถึงจะมีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณ
เงินเดือน และเงินเก็บ คือ สิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถนำไปวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตได้ วัยเกษียณ เป็นวัยหนึ่งที่ควรคำนึงนึกถึงเงินที่ต้องใช้ในชีวิตอย่างถี่ถ้วน เพราะเงินเก็บเหล่านี้สามารถกำหนดคุณภาพชีวิต และความสะดวกสบายในวัยเกษียณของเราได้ในอนาคต
หากเรากลายเป็นผู้สูงอายุในวัยเกษียณแล้ว ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในหลายๆ ด้าน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร สาธารณูปโภค และอีกมากมาย ทำให้เกิดคำถามว่าในแต่ละวัน ต่อเดือน และต่อปี เราควรมีเงินเก็บ และเงินใช้ในอนาคตเท่าไรถึงจะเพียงพอ
การเก็บเงิน มีหลากหลายวิธีที่จะเลือกใช้ ทำให้แบ่งสันปันส่วนการใช้เงินของตนเองได้ รวมทั้งสามารถวางแผนจำนวนเงินที่เราควรมีเก็บ และจำนวนเงินที่สามารถใช้ได้ในอนาคต
วิธีการวางแผนเก็บเงินเบื้องต้น ก่อนถึงวัยเกษียณ
- แบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจนตามภาระของตน
- ตั้งเป้าหมายระยะสั้น และระยะยาวในการเก็บเงิน
- วางแผนเก็บเงินรายเดือน และรายปี โดยคำนวณจากรายได้ และเป้าหมาย
- พยายามจัดการชำระหนี้สินให้หมดก่อนเกษียณ
- หาความรู้ หรืออาชีพเสริม เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณ
- หาแหล่งลงทุน และที่สร้างรายได้ในวัยเกษียณ
ทั้งหมดเป็นการวางแผนในระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาว เพื่อให้เงินออมนั้นได้เกิดความงอกเงย การมีระเบียบในการเก็บเงินนั้นทำให้การเงินของเรามั่นคง ยิ่งเห็นกำไร ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้น และควรเริ่มเก็บเท่าที่ไหวตามกำลัง และสามารถทยอยเก็บเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต หากสามารถทำได้ชีวิตในวัยเกษียณนั้นจะสะดวกสบายมากขึ้น
...
สูตรคำนวณเงินเก็บหลังเกษียณ เพื่อนำไปวางแผนการเก็บเงิน (คำนวณจากรายได้ปัจจุบัน เงินคงเหลือที่สามารถเก็บได้ หลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน)
เงินเก็บที่ต้องการใช้หลังเกษียณ = ค่าใช้จ่ายที่ต้องการ ต่อเดือน x 12 เดือน x อายุขัยที่คาดว่าจะอยู่หลังเกษียณ
เช่น หากต้องการใช้เงินหลังวัยเกษียณ เดือนละ 15,000 บาท จนถึงอายุ 80 ปี (จำนวน 20ปี) หลังเกษียณอายุ 60 ปี สามารถคำนวณได้ดังนี้ : 15,000 บาท x 12 เดือน เท่ากับ 180,000 บาท / นำ 180,000 บาท x 20 ปี เท่ากับ 3,600,000 บาท ยอดนี้ คือ เงินเก็บที่ต้องการใช้หลังวัยเกษียณ
สูตรคำนวณเงินเก็บหลังเกษียณ ที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อในอนาคต คือ นำยอดเงินที่ต้องใช้วัยเกษียณ x 2 จะได้ยอดที่เพียงพอต่อสภาวะเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ราคาสินค้า และบริการต่างๆ มีแนวโน้มในการปรับขึ้น) นอกจากจะได้ยอดเงินที่ต้องเก็บไว้ใช้ในอนาคตแล้ว ยังแนะนำให้มีการแบ่งสัดส่วนของเงินเก็บเพื่อนำไปลงทุน สร้างผลกำไร และเสถียรภาพของการใช้เงินในอนาคตได้มากขึ้น