รวมนโยบายพรรคก้าวไกลสำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในด้านสิทธิต่างๆ และสวัสดิการที่ควรได้รับ จากทั้งหมด 300 นโยบาย
พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มีนโยบายถึง 300 ข้อ ที่ถูกใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 นี้ ซึ่งแต่ละนโยบาย ทางพรรคก้าวไกลเชื่อว่าสามารถทำได้จริง และแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้
พรรคก้าวไกล ใช้คอนเซปต์ว่า “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” เป็นการออกแบบนโยบายจากสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ โดยมี 3 หัวข้อหลักที่ใช้กับนโยบาย ดังนี้
1. การเมืองดี สร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของ ระบบราชการอยู่ข้างประชาชน
2. ปากท้องดี จัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขจัดความเหลื่อมล้ำ
3. มีอนาคต พร้อมเปลี่ยนแปลงในทุกๆ เรื่อง เพื่อประโยชน์ประชาชน มีเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าทันโลก สร้างประเทศที่ “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”
...
นโยบายพรรคก้าวไกลสำหรับผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทางพรรคก้าวไกลต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) อีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ความสามารถของพรรคในวาระที่จะถึงนี้
นโยบายพรรคก้าวไกลสำหรับผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ มีอะไรบ้าง
- กองทุนดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง งบประมาณเฉลี่ย 9,000 บาท/คน/เดือน
- ศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่ง
- ธนาคารอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
- ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง
- ตรวจสุขภาพประจำปี รวมคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง
- วัคซีนเพิ่มเติมฟรีในเด็กและผู้ใหญ่
- สุขภาพดี มีรางวัล (Health Score)
- ทบทวนสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนประกันสังคม
- ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจสุขภาพจิต
- ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร เพิ่มบุคลากร-ขยายบัญชียา-ใช้เทคโนโลยี
- สร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
- สร้างแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยดูแล-บำบัด-ฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนใกล้ตัว
- ยกระดับ รพ. สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชน Primary Care Unit (PCU)
- ปลดล็อกระบบการแพทย์ออนไลน์ Telemedicine
- ตายดี-สิทธิยุติชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับคนที่ป่วยจากโรคทางกายที่รักษาไม่ได้
นโยบายของพรรคก้าวไกลต่อตัวผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง
เงินผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ทำให้มีการดูแลอย่างไม่ทั่วถึง และได้รับสวัสดิการเก่าอยู่ที่ 600 - 1,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การเพิ่มเงินให้ผู้สูงวัยเป็นเดือนละ 3,000 บาท เป็นตัวช่วยให้ผู้สูงวัยมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ผู้สูงอายุ เจ็บ หรือป่วยติดเตียง มีระบบดูแล
ยิ่งสูงวัยโรคภัยไข้เจ็บยิ่งตามมา เป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ โดยนโยบายนี้จะมีการสร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผ่านการสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้พัฒนาระบบ โครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในพื้นที่นั้นๆ
ท้องถิ่นมีช่องทางหารายได้ใหม่ กู้เงิน-ออกพันธบัตร
ตามท้องถิ่นและต่างจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีงานประจำ และเป็นการทำอาชีพงานไร่ สวน งานฝีมือท้องถิ่นมากมาย การปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีอำนาจหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง เช่น กู้เงิน ออกพันธบัตร ร่วมทุนเอกชน ตั้งสหการ สร้างวิสาหกิจท้องถิ่นเอง ซึ่งสามารถสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุ
ทุกบริการภาครัฐ ทำได้ผ่านมือถือ
เทคโนโลยีเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งสภาพร่างกายที่ไม่เป็นดังเดิม การออกไปทำธุรกรรมจากภาครัฐเป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เวลานาน โดยนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุและสมาชิกครอบครัวผู้ดูแล ที่เป็นเรื่องสะดวกสบายมากขึ้น โดย 99% ของธุรกรรมภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน ต้องทำได้ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ ที่รวบรวมบริการภาครัฐของทุกหน่วยงานในที่เดียว
สวัสดิการโอนเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องลงทะเบียน
การลงทะเบียนในการรับสวัสดิการต่างๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยากลำบากต่อผู้สูงอายุ ยากต่อการทำความเข้าใจ ทำให้เกิดความล่าช้าและความผิดพลาดได้ง่ายๆ นโยบายนี้เข้ามาลดภาระการลงทะเบียนของประชาชนในการได้รับสวัสดิการ โดยการให้รัฐจ่ายสวัสดิการให้ประชาชนที่คุณสมบัติครบถ้วนทันทีแบบอัตโนมัติ โดยไม่เป็นภาระของประชาชนที่ต้องลงทะเบียน เพราะทางรัฐจะจ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุทันที เมื่ออายุครบ 60 ปี
...
ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัย จ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ทันที
ปัญหาหนี้สินของเกษตรไทยเป็นส่วนหนึ่งที่น่าเป็นห่วง โดยมีลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1.4 ล้านราย (หนี้กับ ธ.ก.ส.) ด้วยหนี้ผูกพันและทับถม จนกระทั่งเมื่อเกษตรกรมีอายุมากขึ้น และแม้ว่าเกษตรกรเหล่านี้จะได้ชำระหนี้ไปมากแล้ว แต่มูลหนี้คงค้างที่มีอยู่ก็ยังมีอัตราสูง โดยนโยบายนี้จะมีการยกหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) หรือมีข้อกำหนด ดังนี้ เมื่อชำระหนี้ได้ถึงครึ่งหนึ่งของหนี้ปัจจุบันที่มีอยู่ รัฐจะยกหนี้ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้, จ่ายหนี้ดี ลดดอกเบี้ย, ผ่อนประภาระหนี้สินให้กับลูกหนี้บุคคลธนาคารรัฐที่จ่ายดี จ่ายตรงเวลาเกินกว่า 12 งวด ด้วยการลดดอกเบี้ย 10% โดยรัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณชดเชยการลดดอกเบี้ย
“เกษตรข้ามรุ่น” - จ้างเกษตรกรรุ่นใหม่ สอนเกษตรกรวัยเก๋าใช้เทคโนโลยี
ผลผลิตจากเกษตรไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ยาก จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัย ด้วยการสร้างการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆ โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ แถมยังเป็นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจของเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ในการให้คำปรึกษาและบริการต่อเกษตรกรรุ่นเก๋า ส่งผลบวกกับเกษตรกรทุกรุ่น
โทษ ปรับขึ้น-ลง ตามฐานรายได้
เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จากกรณี “สองตายายเก็บเห็ด” ในคดีบุกรุกป่าสงวน ซึ่งทั้งสองนั้นไม่รู้กฎหมายมากนัก จนเกิดโทษที่รุนแรงเกินรายได้ของทั้ง 2 ที่เป็นชาวไร่ชาวสวนธรรมดา นโยบายนี้จึงมีความสอดคล้อง ทำให้ข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความสมเหตุสมผล และทำให้ผู้ไม่มีรายได้หลักอย่างผู้สูงอายุ ไม่ต้องหวาดระแวงต่อการใช้ชีวิต แต่ก็ต้องระวังตนเองให้มากขึ้น.
...
ข้อมูล : moveforwardparty