โรคเกาต์เทียมมีอาการอย่างไร แตกต่างจากโรคเกาต์ทั่วไปอย่างไรบ้าง และใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง เรารวมข้อมูลมาให้ ดังต่อไปนี้

จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือบิ๊กตู่ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีอาการมือขวาติดเชื้อ จนต้องรับการรักษา และได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าไม่ใช่เกาต์เทียม จึงทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า เกาต์เทียมคืออะไร และต่างจากเกาต์ทั่วไปอย่างไร

โรคเกาต์เทียมคืออะไร

โรคเกาต์ (Gout) และโรคเกาต์เทียม (Pseudogout) เป็นชนิดของโรคข้ออักเสบ ซึ่งมีสาเหตุจากผลึกเกลือที่ก่อให้เกิดอาการปวด บวม ร้อนแดง ที่บริเวณข้อของร่างกาย ซึ่งทั้งสองโรคมีอาการคล้ายกันจนแยกได้ยาก แต่ความจริงแล้วทั้งสองโรคนี้มีสาเหตุต่างกัน หากวินิจฉัยผิดอาจทำให้การรักษาผิดตามไปด้วย

อาการของโรคเกาต์เทียม

ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมแต่ละบุคคลจะมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น

  • มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบเป็นๆ หายๆ คล้ายกับโรคเกาต์
  • มีอาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจพบร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้
  • มีอาการข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหลายข้อเลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้
  • มีอาการข้ออักเสบเรื้อรังและมีการทำลายข้อได้
  • บางรายอาจไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบได้ทางภาพรังสี

โรคเกาต์เทียมกับโรคเกาต์ ต่างกันอย่างไร

แม้ว่าทั้ง 2 โรคจะมีอาการที่คล้ายกันจนแยกออกได้ยาก แต่ความแตกต่างของโรคเกาต์เทียมกับโรคเกาต์ มาจากสาเหตุของการเกิดโรค โดยสาเหตุหลักของโรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด สูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ "โมโนโซเดียมยูเรต" (monosodium urate; MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ และ เท้า ทั้งอาจทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) บริเวณข้อ เนื้อเยื่อผิวหนัง และท่อไต ซึ่งอาจนําไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ และการสะสมของผลึก MSU นี้ จัดเป็นสิ่งระคายเคืองต่อร่างกายที่จะกระตุ้นกระบวนการอักเสบ ทําให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลันขึ้น

...

ขณะที่โรคเกาต์เทียมเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรต "calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD)" โดยมักจะเกิดพยาธิสภาพขึ้นในข้อบริเวณใหญ่ๆ ของร่างกาย และมักจะสะสมบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท้านั้น ต่างจากโรคเกาต์ที่จะเกิดการตกผลึกเกลือ MSU ในบริเวณข้อและอวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ ผลึกเกลือชนิดดังกล่าวจะมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม และอักเสบตามมา

ทั้งโรคเกาต์เทียมและโรคเกาต์ ก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบได้เหมือนกัน โดยโรคเกาต์จะก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน บริเวณหัวมือเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าแรก นอกจากนั้นพบอาการปวดได้ที่บริเวณข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า เป็นต้น ขณะที่โรคเกาต์เทียมมักจะก่อให้เกิดอาการปวดที่บริเวณข้อใหญ่ๆ เช่น หัวเข่า ข้อเข่า ข้อมือ และข้อไหล่ เป็นต้น

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเกาต์เทียม

โรคเกาต์เทียมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในเพศหญิงและชาย รวมทั้งยังพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึมบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

โรคเกาต์เทียมส่วนมากเกิดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ขณะที่โรคเกาต์ส่วนมากเกิดกับผู้ชายวัยกลางคน รองลงมาคือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
โรคเกาต์เทียมส่วนมากเกิดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ขณะที่โรคเกาต์ส่วนมากเกิดกับผู้ชายวัยกลางคน รองลงมาคือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

โรคเกาต์เทียมรักษาได้ไหม

ปัจจุบันโรคเกาต์เทียมยังไม่มียาที่สามารถไปละลายหินปูนออกจากกระดูกอ่อนได้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อ การป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคร่วมที่อาจพบร่วมกับโรคเกาต์เทียม พร้อมให้การรักษาควบคู่กันไป

ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซิน เหมือนกับการรักษาในโรคเกาต์ ส่วนรายที่มีน้ำไขข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะสามารถช่วยลดการอักเสบของข้อได้ สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะทำบ่อยๆ

นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัดก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของข้อสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์เทียม ซึ่งควรทำกายภาพในช่วงที่ข้ออักเสบทุเลาลงแล้ว

ข้อมูลอ้างอิง: สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่านเรื่องน่ารู้สาระดีๆ อัปเดตสำหรับผู้ใหญ่ได้ที่ : lifestyle/lifestyle45plus