เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ต้องมีการวางแผนชีวิตเพื่อให้ตนเองและคนในครอบครัวมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากไปก็พร้อมที่จะไปอย่างไร้ความวิตกกังวล เพื่อความเข้าใจและเข้าถึงการวางแผนชีวิตให้มีความสุข ท่ามกลางความตายที่ทุกคนๆต้องเจอนั้น “ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จึงได้จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การวางแผนชีวิตด้วยพินัยกรรมชีวิต ทางเลือกของคนรุ่นใหม่” ในกลุ่มเพื่อนร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ รุ่น 5 (ปพธ.5) ที่ สนง.บริษัท เบเคอร์ แมคเคนซี จำกัด เมื่อเร็วๆนี้

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ได้เกริ่นถึงพินัยกรรมชีวิต หรือ Living Will คือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมาน เช่น การระบุไม่ขอปั๊มหัวใจ, หรือเจาะท้อง เจาะคอ โดยขอรับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น เป็นต้น แต่ไม่ใช่ปฏิเสธการรักษาพยาบาล ซึ่งคิดว่าในเมืองไทยมีคนทำไม่ถึง 1% การทำพินัยกรรมชีวิตเป็นการแสดงความปรารถนาในวาระสุดท้าย ที่เราทำตอนยังมีสติสัมปชัญญะ จะได้ไม่มีการทะเลาะกันในครอบครัว และทางโรงพยาบาลเองก็จะได้เตรียมการดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง ไม่ต้องมีการยื้อชีวิตโดยเปล่าประโยชน์ เราสามารถทำพินัยกรรมชีวิตนี้ได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2555 มาตรา 12 การวางแผนชีวิตด้วยพินัยกรรมชีวิตนั้นทำให้เราตายอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการเสียชีวิตที่ดี ต้องมีการยอมรับการตายได้, ตายอย่างมีสติ, เลือกสถานที่ตาย, มีเวลาพูดสิ่งที่ค้างคาใจ บริษัท ชีวามิตร จำกัด เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อการทำงานในด้านการอบรมผู้ป่วยระยะสุดท้าย การให้ความรู้กับประชาชน, ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกฎหมายการเสียชีวิตในบ้านหรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สามารถกระทำได้ และเป็นหน่วยงานกลางที่คอยประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่ต้องการให้บริการความช่วยเหลือ หรือบริจาคค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและสร้างองค์ความรู้อบรมแพทย์ ทำการวิจัย บุคลากร และอาสาสมัคร หรือร่วมทุนกับบริษัทที่สนใจต้องการคืนกำไรสู่สังคมในรูปแบบของกิจกรรม CSR ในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้ทุกคนได้ยิ้มรับความตาย

...

ศ.กิติพงศ์ ยังกล่าวถึงการวางแผนชีวิต จะสร้างความสวยงามของการจากไป พอสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้ คือ ทำในสิ่งที่อยากทำให้ครบ คนส่วนใหญ่กลัวเจ็บมากกว่ากลัวตาย เราต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการตระหนักรู้ถึงการเจ็บป่วย, อย่าปล่อยให้เกิดความเสียดาย เพราะไม่รู้ว่าจะจากไปเมื่อไหร่ เตรียมตัวด้วยการทำพินัยกรรมมรดก และพินัยกรรมชีวิตให้เรียบร้อย, ใช้ชีวิตด้วยความรัก อยู่กับคนที่เรารัก, อยู่กับปัจจุบัน และเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ

ด้านผู้มาร่วมฟังและได้ร่วมแสดงความเห็น พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ในการวางแผนชีวิตแบบนี้ ควรที่จะเอาองค์ความรู้ใส่ให้สังคมให้มาก เพราะอย่างแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เราเรียนเพื่อการรักษาให้มีชีวิต ไม่ได้ให้ตายอย่างสงบ ในส่วนของครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องมาเรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งหากมีองค์กรหรือนักกฎหมายมาช่วยแนะนำจะทำให้ทุกคนเข้าใจและมีความสุข

ส่วน พ.อ.นพ. มหัทธนา กมลศิลป์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กล่าวว่า คิดว่าการทำพินัยกรรมชีวิตเป็นสิ่งที่ดี เราควรมีการเตรียมความพร้อม เพราะเป็นผลประโยชน์ของทั้ง คนไข้ และญาติ เพื่อให้คนไข้ได้จากไปอย่างสงบ สบายใจ ตายอย่างมีความสุข ญาติพี่น้องไม่ต้องมาทะเลาะกัน แพทย์เองก็จะได้ให้การดูแลอย่างถูกต้อง ซึ่งหากไม่มีการทำพินัยกรรมชีวิตไว้ อาจเกิดการความขัดแย้งในครอบครัวได้.