“คำว่าจีเนียสถูกใช้อย่างเว่อร์มากในเมืองไทย ทั้งๆที่คำว่าจีเนียสยิ่งใหญ่กว่านั้น ต้องคิดอะไรที่เปลี่ยนความคิดของโลกได้ ระดับไอน์สไตน์ หรือโมสาร์ท เราไม่สามารถรู้ตอนยังมีชีวิตอยู่ว่าใครเป็นอัจฉริยะ ถ้าจะใช้วิธีวัดไอคิวทางวิทยาศาสตร์ เราคงมีจีเนียสเป็นล้านในเมืองไทย แต่ผมคิดว่าวัดไม่ได้หรอก เอาเป็นว่าให้ผมตายไปสัก 100 ปี แล้วค่อยตอบว่าผมเป็นจีเนียสหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ผมก็เป็นแค่คุณลุงเดินในซอยธรรมดาๆ” ....วาทยากรระดับโลก, คีตกรผู้ยิ่งใหญ่, ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักเขียนนวนิยายเบสต์เซลเลอร์ ทั้งหมดนี้คือนิยามความเป็น “สมเถา สุจริตกุล” ที่เขาปฏิเสธมาตลอดว่า ผมไม่ใช่อัจฉริยะ!!

ฉายแววศิลปินให้เห็นตั้งแต่ตอนไหน

ผมไปอยู่อังกฤษกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 6 เดือน และไม่ได้กลับเมืองไทยเลยกระทั่ง 7 ขวบ แม่เล่าว่า ตอนผม 18 เดือน ผมสอนตัวเองให้อ่านหนังสือได้แล้ว กลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่ชอบเอาลูกออกมาอวดเพื่อนๆที่ออกซ์ฟอร์ด อาจารย์ที่ออกซ์ฟอร์ดบอกว่าเด็กคนนี้ไม่ธรรมดา (ยิ้ม) พอเราอ่านหนังสือแล้วได้รับคำชม ทำให้พัวพันกับหนังสือมาตลอด

อาจารย์เริ่มออกจากดักแด้ ค้นพบตัวเองจริงๆเมื่อไหร่

จำได้ว่าตอนกลับเมืองไทย อายุ 7 ขวบ พ่อแม่ส่งเข้าโรงเรียนไทย ก็อาละวาดฉีกเสื้อครู เพราะมันเป็นความหงุดหงิดที่เราพูดภาษาไทยไม่ได้ โชคดีที่เจอครูเก่งมหาศาลคือ “ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์” ครอบครัวท่านอยู่อังกฤษ ท่านเข้าใจชีวิตผมมาก ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกกว้างใหญ่ ไม่มีอะไรในโลกที่ไปถึงไม่ได้

ถ้าแบ่งชีวิตออกเป็นบทเป็นตอน ชีวิตของอาจารย์ดำเนินมาถึงองค์ไหนแล้ว

ผมกำลังเขียนอัตชีวประวัติเป็นภาษาไทย แบ่งชีวิตออกเป็น 3 บท เป็นครั้งแรกที่เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ซึ่งใช้ภาษาในทางที่พิสดาร เพราะไม่เคยเรียนภาษาไทย แต่ก็อยากคงกลิ่นอายไว้ บทแรกเริ่มจาก “ความเป็นไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร จนค้นพบว่าความเป็นไทยเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก แต่เป็นสิ่งที่ลึกที่สุด เพราะเป็นตัวตนเรา บทที่สอง

...

“ความเป็นฝรั่ง” เป็นช่วงชีวิตอายุ 23 ผมย้ายไปอยู่อเมริกา โดยไม่คิดจะ

กลับเมืองไทยอีกเลย เพราะผิดหวังในเมืองไทย ส่วนบทที่สามคือ “ความเป็นมนุษย์” เป็นช่วงชีวิตตอนนี้ที่สามารถนำความเป็นไทยกับความเป็นฝรั่งมาทอให้เป็นผ้าผืนเดียวกัน

เกิดอะไรขึ้นกับคีตกรไฟแรง ถึงตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน

หลังเรียนจบจากเคมบริดจ์ ผมกลับมาทำงานที่เมืองไทย อายุ 21 ปี กำลังเป็นคีตกรไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมคีตกรโลกที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นผมได้พบกับบรูซ แกสตัน และดนู ฮันตระกูล พวกเราสามคนได้ร่วมกันทำปฏิวัติใหญ่ในวงการดนตรีไทย จัดเฟสติวัลดนตรีครั้งใหญ่ที่สุด มีคอมโพสเซอร์จากทั่วโลกมาร่วมแสดง 200 กว่าคน สิ่งที่พวกเราทำตอนนั้นกลายเป็นสิ่งที่ช็อกคนไทยมาก โดนด่ามาก ทั้งๆที่เป็นของธรรมดาที่สุดในดนตรียุคปัจจุบัน มันเป็นครั้งแรกที่ผมใช้เครื่องดนตรีไทยผสมกับดนตรีฝรั่ง ซึ่งเป็นปี 1978 คนที่ตีฆ้องวงไม่ยอมเล่นกับเรา เพราะผิดครู ต้องเอาคนเล่นดนตรีฝรั่งมาอ่านโน้ตแทน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นทำให้ผมเครียดมาก คนด่าว่าเป็นของบ้า ทำให้วัฒนธรรมไทยเสียหาย ประเทศไทยทำให้ผมเจ็บปวดอกหัก จนทิ้งทุกอย่างไปอเมริกา

ตอนนั้นเตลิดไปไกลขนาดไหน

ผมไม่แตะดนตรีเลย และลุกขึ้นมาเขียนเรื่องสั้นระบายความอัดอั้น เขียนอยู่ได้ปีหนึ่ง ก็ขายเรื่องให้แมกกาซีนต่างๆได้ จนพัฒนามาเป็นนวนิยาย และมีหนังสือเบสต์เซลเลอร์ จนถึงวันนี้ผมเขียนนวนิยายไปแล้ว 60 กว่าเล่ม ชีวิตที่อเมริกาไม่ปวดหัวเลย สามารถอยู่ได้สบายๆไม่ต้องยุ่งกับใคร ผมใช้ชีวิตอยู่อเมริกา 20 ปี ไม่ได้ทำงานดนตรีเลย แต่ยอมรับว่าคิดถึงมันตลอดเวลา กระทั่งมีคนชวนให้กลับมาทำงานดนตรีที่เมืองไทย วันนั้นผมเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่เราปฏิวัติให้วงการดนตรีไทยมันไม่สูญเปล่า ย้อนมองตัวเองเห็นเลยว่าลูกที่เราคลอดออกมาตอนนั้น ไม่ได้ขี้เหร่เลย โตขึ้นมาแล้วสวยมาก เราได้ทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยจริง ผมมีหน้าที่ต้องกลับมาช่วยพัฒนาสภาพของดนตรีคลาสสิกไทย และในด้านการสอนคนดนตรีรุ่นใหม่ นี่เป็นสาเหตุที่ผมกลับเมืองไทยรอบนี้ และอยู่มานาน 15 ปีแล้ว

การกลับมาอยู่เมืองไทยครั้งนี้ มีมุมมองต่างออกไปยังไง

ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นฝรั่ง หรือเป็นไทย แล้วจะเป็นข้อจำกัด แต่ผมคิดกับตัวเองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การต่อสู้ที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน ตอนนี้กลับหนักขึ้นกว่าเก่าอีก แต่เรายอมรับได้เพราะแก่ขึ้น เมืองไทยถูกคัตออฟจากโลกภายนอกนานมาก โดยเฉพาะในด้านศิลปวัฒนธรรม พอมาเปิดประตู ทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจ เหมือนอยู่ในถ้ำมานานแล้วมีแสงลอดเข้ามา มันจะมีไอเดียว่าวงการนี้เหมือนขนมเค้ก ถ้าคนมาเพิ่มก็จะได้เค้กชิ้นเล็กลง แต่สำหรับผมตั้งใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย เพื่อทำให้ขนมเค้กก้อนใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เพื่อแย่งเค้กคนอื่น

อาจารย์ได้ทำอะไรให้วงการดนตรีไทย สมกับที่ตั้งใจหรือยัง

สิ่งแรกที่ผมทำทันทีที่กลับเมืองไทย คือก่อตั้งมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ และสร้างคณะโอเปร่าสยาม จนได้รับการยอมรับว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโอเปร่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่สองคือ ผมปั้นวงซิมโฟนีเยาวชน “สยาม ซินโฟนิเอตต้า” ไปคว้าแชมป์ออเคสตร้าโลก ที่กรุงเวียนนา โดยใช้เทคนิคใหม่ “สมเถา เมดธอด” สอนเด็กไทย เพื่อให้วิธีเล่นดนตรีเทียบเท่าวิธีเล่นในมาตรฐานโลก เวลาวงดนตรีเด็กของเราไปเล่นที่คาร์เนกี้ฮอลล์ ฝรั่งไม่ดูว่าแหมเด็กหน้าเจ๊กๆพวกนี้ทำไมเล่นดนตรีแบบเราได้ แต่เค้าแค่ฟังดนตรีแล้วแอพพลิชิเอทกับดนตรีที่เราเล่น ไม่ใช่มองว่าพวกหัวดำเล่นดนตรีเราได้ สิ่งที่สามเป็นการสร้าง “แนชั่นแนล อาร์ต ฟอร์ม” ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกของชาติ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการแสดงชุดทศชาติ จะเรียกว่าเป็นโอเปร่าคงไม่พอ เพราะมีทั้งร้องทั้งเต้น และวรรณกรรม การที่เอาทั้ง 10 ชาติ มาดัดแปลงสำหรับเล่นซิมโฟนี เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นดนตรีคลาสสิกชิ้นใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ตอนนี้ทำได้ครึ่งทาง หวังว่าหลังจากที่ผมตายแล้ว มรดกของชาตินี้จะยังคงอยู่คู่เมืองไทย

...

ภูมิใจแค่ไหนที่เกิดเป็นคนไทย ภูมิใจแค่ไหนที่เกิดในรัชกาลที่ 9

ผมรู้สึกมากที่สุดตอนในหลวงไม่อยู่กับเราแล้วว่า ท่านเป็นส่วนที่ใหญ่ในชีวิตของเรา รู้สึกเศร้ามากเวลาที่ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว เหตุผลสำคัญที่ดึงผมกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ก็เพราะมีภารกิจให้ดัดแปลงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ให้เป็นดนตรีซิมโฟนี และทันทีที่ผมทราบว่าในหลวงเสด็จสวรรคต ผมรีบค้นคว้าว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 48 เพลง มาบรรเลงพร้อมกันในรูปแบบซิมโฟนี ต้องไปรวบรวมค้นหาจากทุกที่ทุกทาง เพราะวงออเคสตร้าไม่เหมือนวงแจ๊ส ทุกโน้ตที่เล่นต้องเขียนละเอียดขึ้นล่วงหน้า ทำนองก็เป็นหนึ่งโน้ต แล้วมีอีกร้อยโน้ตต้องเล่นพร้อมกัน จึงจะเป็นซิมโฟนีที่ยิ่งใหญ่ โชคดีที่ “ม.ล.อัศนี ปราโมช” ได้เรียบเรียงไว้ถึง 20 เพลง ซึ่งผมได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ในคอนเสิร์ตการกุศล “48 คงอยู่คู่ฟ้า” รวมเพลงพระราชนิพนธ์รูปแบบซิมโฟนีคลาสสิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 13-14 พ.ค.นี้ โดยมีคนร่วมแสดง 200 กว่าคน งานนี้ผมจัดขึ้นเพื่อฝากมรดกของชาติไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน อยากให้เพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้มีความเป็นอมตะ ทุกทำนองทุกตัวโน้ตเหมือนเมล็ดพืช ที่พระองค์ทรงหว่านไว้ อยากให้ทุกท่วงทำนองเติบโตงอกงาม และอยู่ต่อไปเป็นร้อยๆปี

...

จนถึงวันนี้ เรียกเมืองไทยว่าเป็น “บ้าน” ได้เต็มปากหรือยัง

อันนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะมันอยู่ที่ว่าความเป็นไทยหมายความว่าอะไร บางคนตีความหมายแคบมาก แต่เราต้องดูประวัติศาสตร์ของประเทศ สมัยก่อนอยุธยาเป็นเมืองหลวงใหญ่ของโลก เหมือนลอนดอน และปารีส ทุกวันนี้ประเทศเรายังไม่กลับสู่ระดับนั้น แต่กำลังค่อยๆแหวกม่านออกไปยิ่งใหญ่เหมือนสมัยก่อน และผมอยากมีส่วนช่วยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ผมฝันเห็นเมืองไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมโลกอีกครั้ง.

ทีมข่าวหน้าสตรี