วงการอาหารโลกต้องจับตา! เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ แห่งร้านโพทง (Potong) กรุงเทพฯ คว้าตำแหน่งสุดยอดเชฟหญิงของโลกประจำปี 2025 (The World’s Best Female Chef 2025) ตอกย้ำความสำเร็จหลังจากเพิ่งได้รับรางวัลสุดยอดเชฟหญิงแห่งเอเชียเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา

ความสำเร็จนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญไม่น้อย เนื่องจากเชฟแพมคือเชฟคนแรกจากทวีปเอเชียที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้มาครองได้ในประวัติศาสตร์ 14 ปีของการมอบรางวัล ซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารกว่า 1,120 คนทั่วโลก

ร้านโพทงของเชฟแพมเปิดให้บริการมาไม่ถึง 5 ปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ชื่อของพิชญา สุนทรญาณกิจ หรือเชฟแพม ได้กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีอาหารระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว

เบื้องหลังความสำเร็จที่ดูเหมือนรวดเร็วนี้ มาจากการทำงานหนักและทุ่มเทมาเกือบ 15 ปี ทั้งนี้ เชฟแพมเริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพด้วยการเรียนวารสารศาสตร์ ก่อนจะหันเหมาสู่โลกการทำอาหาร คว้าชัยชนะในการแข่งขันเชฟรุ่นเยาว์ตั้งแต่อายุเพียง 21 ปี จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันสอนทำอาหารชื่อดัง Culinary Institute of America (CIA) ในนิวยอร์ก และฝึกฝนฝีมือภายใต้เชฟระดับตำนานอย่าง ฌอง-จอร์จ วองเกอริชเทน (Jean-Georges Vongerichten) 

หลังจากนั้นเมื่อเธอกลับมาประเทศไทย เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเป็นกรรมการในรายการ Top Chef Thailand และได้เปิดร้านอาหาร The Table มอบประสบการณ์ไพรเวทไดนิ่งสุดพิเศษ

...

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อตึกเก่าแก่อายุ 120 ปีของครอบครัว ซึ่งเคยเป็นร้านขายยาจีนโบราณ ว่างลง เชฟแพมและต่อ-บุญปิติ สามีและหุ้นส่วนทางธุรกิจ จึงตัดสินใจเข้ามาพลิกฟื้นอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ในย่านเยาวราชให้กลายเป็นร้านอาหารคอนเซ็ปต์หลายชั้นในชื่อโพทง

ที่โพทง เชฟแพมบอกเล่าเรื่องราวต้นตระกูลอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอผ่าน Tasting Menu ราว 20 คอร์ส ในสไตล์อาหารไทย-จีนโปรเกรสซีฟ (Progressive Thai-Chinese Cuisine) ที่ทั้งกระตุ้นความคิดและสร้างสรรค์ รวมถึงเมนูซิกเนเจอร์อย่างเป็ดย่างรมควันหอมกรุ่น ประสบการณ์การทานอาหารที่นี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รสชาติ แต่ยังกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ผ่านการเดินทางขึ้นไปยังชั้นต่างๆ ของอาคาร ซึ่งไม่เพียงสร้างความทรงจำใหม่ แต่ยังเชื่อมโยงกับความทรงจำเดิมของผู้มาเยือนอีกด้วย

การได้รับรางวัลระดับโลกครั้งนี้ เปรียบเสมือนเวทีที่ใหญ่ขึ้น ที่จะทำให้เชฟแพมสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจและความสุขในการทำอาหารไปยังเชฟมืออาชีพ พ่อครัวแม่ครัวตามบ้าน และนักชิมทั่วโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัย นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการอาหารไทยอย่างแท้จริง

ที่มา: The World’s 50 Best