วันที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คร่าชีวิต ความสุข และทรัพย์สิน หรือวิกฤตส่วนตัวที่บีบคั้นหัวใจ ผู้นำองค์กรอาจเป็นหนึ่งในแสงสว่างที่ต้องส่องนำทางท่ามกลางความมืดมิด นอกจากการปกป้องธุรกิจให้รอดพ้นจากภัยพิบัติแล้ว ผู้นำยังต้องมีหน้าที่โอบอุ้มและประคองพนักงานให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้พร้อมกัน
แม้ว่าโลกของการทำงานในปัจจุบันจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่พนักงานสามารถทำงานได้จากทุกที่ แต่เมื่อภัยพิบัติมาเยือน ไม่มีใครรอดพ้นจากผลกระทบได้ ผู้นำที่แท้จริงจะตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลพนักงาน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ใกล้หรือไกล และพร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเมื่อพวกเขาต้องการ
แนวทางสร้างพลังใจจากผู้นำ ให้พนักงานในวันที่อ่อนแอ
ลำดับแรกคือสื่อสารด้วยความเข้าใจและสม่ำเสมอ ในช่วงเวลาที่สับสนและวุ่นวายจากสถานการณ์ต่างๆ เพราะการสื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญที่ผู้นำต้องแสดงความเข้าใจและให้กำลังใจแก่พนักงาน สร้างความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว
รวมถึงสร้างบรรยากาศการทำงานที่พนักงานนั้นกล้าที่จะเปิดเผยปัญหาและความกังวล โดยมีนโยบายเปิดประตูให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผู้นำได้เสมอ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว เพื่อให้พนักงานสามารถพูดคุยและระบายความรู้สึกได้อย่างสบายใจ
พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคล สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในทีม เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่พร้อมจะดูแลกันและกัน
ผู้นำต้องแสดงตนให้เห็นว่าพวกเขานั้นจะอยู่เคียงข้างพนักงานด้วยความห่วงใย และเข้าถึงพนักงานด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะพนักงาน แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากตามลำพัง เช่น การจัดหาแหล่งข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์นั้นๆ เช่น หมายเลขติดต่อฉุกเฉิน แหล่งความช่วยเหลือ และบริการให้คำปรึกษา
...
นโยบายการทำงานต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ความปลอดภัย และนิรภัยทางการเงิน สิ่งสำคัญที่องค์กร และผู้นำต้องเตรียมพร้อม
นอกจากการให้กำลังใจแล้ว ผู้นำควรให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เช่น เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน ที่พักอาศัย หรือวันลาพักร้อนแบบได้รับค่าจ้าง เพราะความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานต้องมาเป็นอันดับแรก ผู้นำต้องแสดงความห่วงใยและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
การจัดการแบ่งเบาภาระงาน ไม่ว่าจะจากตัวผู้นำ องค์กรเอง หรือทีมงาน การช่วยกันแบ่งเบาภาระงานของพนักงานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้พวกเขามีเวลาในการจัดการกับสถานการณ์ส่วนตัว รวมถึงวางแผนรับมือวิกฤตล่วงหน้า โดยกำหนดแนวทางการสื่อสารที่ชัดเจน
สถานการณ์ฉุกเฉิน การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จัดทำช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย เช่น กลุ่ม WhatsApp หรืออีเมล เพื่อให้พนักงานได้รับข้อมูลล่าสุดและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
สุดท้ายคือนโยบายที่เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่ไม่คาดฝันด้วยการสร้างกองทุนฉุกเฉิน เพื่อให้พนักงานมั่นใจได้ว่าพวกเขายังมีรายได้ และไม่ถูกทอดทิ้งแม้ในยามยากลำบากเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ
นอกจากนี้ ควรมีการตรวจสอบสิ่งช่วยเหลือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ในองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลและแหล่งทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นปัจจุบันและเข้าถึงได้ง่าย พร้อมจัดเตรียมระบบสนับสนุนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถขอความช่วยเหลือและลดภาระงานได้ รวมถึงการระดมทีมงานให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร สุดท้ายนี้ในช่วงเวลาวิกฤติ ผู้นำควรให้เวลาพนักงานจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น ความปลอดภัย ครอบครัว และชุมชน
ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้นำที่แท้จริงจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความเมตตา พวกเขาจะโอบอุ้มพนักงานด้วยความเข้าใจและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าพนักงานคือ “หัวใจสำคัญ” ขององค์กร และการดูแลพวกเขาคือการดูแลอนาคตขององค์กร
ภาพ : Forbes