พระนอนวัดโพธิ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ากราบสักการะขอพรตามปกติเวลา 8.30-19.30 น. แม้ว่าล่าสุดจะพบรอยร้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ได้ข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบองค์พระนอนวัดโพธิ์เรียบร้อยแล้ว จากการประเมินเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่าเป็นรอยร้าวเดิมที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการขุดเจาะใต้ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า และเมื่อเกิดแผ่นดินไหวล่าสุด ก็พบรอยร้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นทางวัดโพธิ์จึงเปิดให้ประชาชน ผู้มีจิตศรัทธา เข้ากราบไหว้ขอพรตามปกติ เวลาเปิดปิดของวัดโพธิ์ คือ 8.30-19.30 น. อัตราค่าเข้าชาวไทย ไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนชาวต่างชาติ 300 บาท

พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ องค์พระนอนมีขนาดขององค์พระยาว 46 เมตร สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว 5 เมตร กว้าง 2.50 เมตร พระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร เป็นปางพระพุทธไสยาสน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่งดงาม สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสิบหมู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2375 เป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
...
ลักษณะองค์พระนอนอยู่ในอิริยาบถสีหไสยา คือนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระกัจฉะ (รักแร้) หนุนพระเขนย พระหัตถ์ขวายกประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาปลายพระบาทเสมอกัน พื้นฝ่าพระบาทจำหลักลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย
ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดโพธิ์ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า พระนอนวัดโพธิ์ พระพุทธไสยาสนี้ มีการประดับมุกประณีตศิลป์ที่ฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง ซ้าย-ขวา เป็นรูปอัฏฐตรสตมงคล หรือมงคล 108 ประการ ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา ว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ 5 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณ์นี้ในลังกา หากแต่พบที่พุกาม ประเทศพม่า กล่าวกันว่า มงคล 108 ประการนี้ เป็นการพัฒนาแนวความคิด และสืบทอดมาจาก รูปมงคล 8 มงคล 108 ประการ ประกอบด้วยมงคลต่างๆ แบ่งประเภทได้ดังนี้
- เป็นลักษณะแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัว เป็นต้น
- เป็นเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น สัตตรัตนะ 7 ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องตันต่างๆ และราชพาหนะ เป็นต้น
- เป็นส่วนประกอบของพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เช่น เขาจักรวาล มหาสมุทร ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุเขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น