จากกระแสข่าวเรื่องสลิปปลอมที่สร้างขึ้นจาก ChatGPT โดยเพจเฟซบุ๊ก "kafaak" ได้ออกมาเตือนให้ระวังสลิปปลอมกัน เพราะทำได้อย่างแนบเนียนแทบเหมือนจริงๆ จนอาจทำให้กลายเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้

แล้วเราจะมีวิธีตรวจสอบป้องกันสลิปปลอมได้อย่างไรบ้าง เพราะหากเปรียบเทียบรายการต่างๆ ในสลิปปลอมอาจไม่เห็นความแตกต่างเพราะสามารถสร้างภาพสลิปออกมาได้ตรงกับรายการของสลิปจริง ตั้งแต่โลโก้ของธนาคาร เครื่องหมายทำรายการสำเร็จ จำนวนเงิน จากชื่อผู้โอน โอนไปที่ชื่อผู้รับ ค่าธรรมเนียม หมายเลขอ้างอิง และเลขที่อ้างอิง หากใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยอาจมีผิดบ้าง

เรียกได้ว่าเทคโนโลยีมาไกลจนทำให้วิธีป้องกัน และสังเกตแบบเดิมอาจไม่ทันการณ์แล้ว สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากสลิปปลอมจาก ChatGPT เบื้องต้นทำได้ดังนี้

  1. สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินที่ได้รับ เพราะสลิปโอนเงินของแอปพลิเคชันธนาคาร ต้องมี QR Code ให้เราตรวจสอบได้
  2. วิธีการสแกน “QR Code” คือใช้กล้องโทรศัพท์สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินของลูกค้า หรือถ้ามีรูปสลิปโอนเงินอยู่ในโทรศัพท์อยู่แล้ว ให้เลือกรูปสลิปที่อยู่ในอัลบั้มภาพที่เราเซฟไว้มาตรวจสอบได้
  3. จากนั้นระบบก็จะตรวจสอบให้เห็นว่ายอดเงินที่โอนเข้ามาตรงกับสลิปหรือไม่ หากยอดเงินไม่ตรง หรือว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็อาจเป็นสลิปปลอม
  4. หรืออีกวิธีที่ไม่ได้ดูจากสลิปโดยตรง คือ ให้ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร เมื่อมียอดเงินเข้า หรือออกจากบัญชีของตนเอง เพื่อเปรียบเทียบกับสลิปโอนเงินที่ลูกค้าส่งมา

ส่วนใครที่เจอสลิปปลอมแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างโดย ChatGPT ก็สังเกตได้ตามคำแนะนำของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) ก่อนหน้านี้ เช่น ตัวอักษร ตัวเลขต่างๆ มีความสม่ำเสมอ ตัวอักษรเป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งสลิปปลอมส่วนใหญ่ ตัวหนังสือบนสลิป เช่น เวลา วันที่ จำนวนเงิน ชื่อบัญชีผู้รับโอน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตัวหนังสือบนสลิปจะมีความหนา บางไม่เท่ากัน หรืออาจจะเป็นตัวหนังสือคนละประเภทกัน เป็นต้น

...