ช่วงต้นปีแบบนี้หลายคนมักจะมีแผนไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นสบาย แต่ก็มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทางสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ของญี่ปุ่นรายงานว่าพบผู้ป่วยทั่วประเทศอยู่ที่ราว 1,674,000 คนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโดยเฉลี่ยต่อสถานบริการทางการแพทย์อยู่ที่ 42.66 คน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี สำหรับช่วงเวลานี้ของปี ดังนั้นหากใครมีแผนเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาวต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ และปลอดภัยต่อสุขภาพ
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยหากมีการติดเชื้อ
2. สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น
โดยเฉพาะถุงเท้ากับผ้าพันคอ เพราะเมื่อเท้าและคออุ่นก็จะช่วยบรรเทาความหนาวเย็นลงได้มาก และควรสวมใส่ถุงเท้าแม้แต่เวลาอยู่ในห้อง หากยังรู้สึกหนาวก็ควรใช้ผ้าพันคอเพิ่มด้วยเพื่อป้องกันการเป็นไข้หวัด
...
3. ล้างมือและกลั้วคอบ่อยๆ
เมื่อกลับมาจากข้างนอกขอให้ล้างมือด้วยสบู่และกลั้วคอทุกครั้ง ถ้ารู้สึกเจ็บคออาจใช้น้ำยากลั้วคอเพื่อลดอาการเจ็บคอลงก็ได้
4. อย่าปล่อยให้ตัวเย็นหลังอาบน้ำ
หลังอาบน้ำเสร็จควรนำผ้ามาพันร่างกายทันทีเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ และควรสวมเสื้อผ้าที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เลี่ยงเสื้อผ้าเนื้อบางเบา เพราะจะทำให้ร่างกายเย็นและเป็นหวัดได้
5. สวมหน้ากากอนามัย
เมื่ออยู่ในที่มีผู้คนจำนวนมากควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และควรหลีกเลี่ยงการกินของเย็น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
6. ซื้อประกันเดินทาง
การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และถ้าหากป่วยระหว่างเที่ยวญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย ดังนั้นการซื้อประกันเดินทางล่วงหน้าที่ครอบคลุมเรื่องการรักษาพยาบาลด้วยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มาก
อย่างไรก็ตาม หากต้องการพกยาแก้ไข้ แก้หวัด จากประเทศไทยไปในทริปญี่ปุ่นด้วยก็ควรระวัง โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาประกาศเตือนยา 11 ชนิด ที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีส่วนผสมต้องห้ามภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มยาบรรเทาอาการหวัดที่มีส่วนผสมของ ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และยาแก้ท้องเสีย เนื่องจากญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้นำเข้ายาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ไม่ว่าจะนำไปใช้เพื่อรักษาตัวหรือใช้ทางการแพทย์ และหากตรวจพบจะถูกยึดและดำเนินคดีทันที ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ยาที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีน จำพวกยาแก้หวัด แก้แพ้ ลดน้ำมูก
- TYLENOL COLD
- SUDAFED
- ADVIL COLD & SINUS
- ACTIFED
- DRISTAN COLD/ “NO DROWSINESS”
- DRISTAN SINUS
- DRIXORAL SINUS
กลุ่มที่ 2 ยาแก้หวัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
- NYQUIL
- NYQUIL LIQUICAPS
- VICKS INHALER
กลุ่มที่ 3 ยาแก้ท้องเสีย ที่มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว
- LOMOTIL
ในกรณีที่มีโรคประจำตัวหรือต้องการนำยาติดตัวไปเพื่อความสบายใจ ก็ควรมี
- ใบสั่งแพทย์ที่ต้องนำติดตัวไปด้วยทุกครั้ง
- ยาต้องอยู่ในแผงยา หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อแสดงรายละเอียดของยาแก่เจ้าหน้าที่
- จำนวนของยาจำเป็นที่ติดตัวได้ต้องใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน
- ยาที่มีส่วนผสมของยาเสพติด ให้โทษที่ใช้ทางการแพทย์ต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
- ยากลุ่มยานอนหลับควรระวังในการพกพา
ข้อมูลอ้างอิง : NHK World, JAPAN STUDY SUPPORT, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา