New Year Blues สภาวะทางอารมณ์ที่ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังปีใหม่ สาเหตุจากการผ่อนคลายในช่วงหยุดยาวจนเกิดความกดดันในการเปลี่ยนแปลงช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้อย่างไม่ทันตั้งตัว
มีใครรู้สึกว่าอารมณ์เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันบ้าง หลังจากหยุดยาวมาหลายวัน พอเริ่มทำงานแล้วรู้สึกเซื่องซึม ขี้เกียจ เหงา เครียด และไม่กระปรี้กระเปร่าเฉกเช่นเดิม
อาการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังปีใหม่ หรือ ภาวะเศร้าหลังวันหยุดยาว (New Year Blues)” เป็นหนึ่งในสภาวะทางอารมณ์ โดยจะมีอาการเกิดขึ้นหลังจากช่วงเทศกาลวันหยุด เช่น วันสงกรานต์ วันปีใหม่ หรือวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนวัยทำงานได้พักผ่อนหลายๆ วัน ทำให้คนมีความรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน มีการสังสรรค์ ได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำให้หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไป อาจเกิดเซื่องซึม ไม่มีกระจิตกระใจทำงาน โดดเดี่ยว เครียด และกลับมาเป็นแบบเดิมได้ช้า
อาการเหล่านี้คล้ายๆ กับการปรับตัวใหม่ เสมือนการเริ่มต้นอารมณ์ตนเองให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ดีอาการดังกล่าวไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เพียงเป็นสภาวะทางอารมณ์เท่านั้น แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญ เพราะบางคนอาจปรับความรู้สึกไม่ได้ เกิดความกดดันในตัวเอง ซึ่งอาจลุกลามไปถึงภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
อาการของโรคภาวะเศร้าหลังวันหยุดยาว (New Year Blues) ประกอบไปด้วยภาวะซึมเศร้า, ความเหนื่อยล้า, ขาดแรงจูงใจ, รู้สึกหมดพลัง, เบื่อหน่าย และวิตกกังวล
อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วยการเปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิดและไว้วางใจ ให้ได้ระบายความในใจ ซึ่งก่อให้เกิดแนวทางติดตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ของตัวเองอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการออกกำลังกายดูแลสุขภาพ
...
แน่นอนว่าโรคภาวะซึมเศร้าหลังปีใหม่ หรือ ภาวะเศร้าหลังวันหยุดยาว (New Year Blues) สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรมีระยะเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิต โดยปกติอาการทั่วไปจะมีระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน ถึง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น หากรู้สึกว่าอาการเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามอาการต่อไป
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข