ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 25 คนของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก และบุคคลสำคัญของโลก ด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษาจากองค์การยูเนสโก สำหรับ “ป๊ะกำพล วัชรพล” ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และวางรากฐานให้กับไทยรัฐกรุ๊ป ด้วยปณิธานแรงกล้าว่า “หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน...ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่จำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษา ด้วยการสร้างคนและให้คนมาสร้างประเทศ”
ย้อนตำนานหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2493 ผ่านอุปสรรค ปัญหา และอำนาจ รัฐจนถูกสั่งปิดไปเมื่อปี 2501 และกลับมาเปิดอีกครั้งในชื่อ “เสียงอ่างทอง” กระทั่งกลายมาเป็น “หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ” ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศ แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายทศวรรษ แต่ปณิธานที่มั่นคงแน่วแน่ในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และแสวงหาความยุติธรรมให้กับสังคมไทย ก็ยังคงได้รับการสืบสานและต่อยอดมาจนถึงทายาทรุ่นปัจจุบัน
คำพูด 2 ประโยคที่ลูกหลานคนใกล้ชิด ตลอดจนคนไทยรัฐ มักได้ยินจากปากของ “ผอ.กำพล” เสมอ และยังจดจำขึ้นใจถึงทุกวันนี้คือ “หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน” และ “ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้ จึงอยากสนับสนุนการศึกษา ช่วยเด็กยากจนได้มีโอกาส”
...
และนี่เองจึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท โดยการสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรก ที่จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2513 ด้วยเงินรายได้จากการขายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีจำนวนถึง 111 โรงทั่วประเทศ โดยในวันที่ 27 ธันวาคม 2522 เมื่อ “ผอ.กำพล” อายุครบ 60 ปี ได้ใช้เงินส่วนตัว 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมก่อตั้ง “มูลนิธิไทยรัฐ” เพื่อทำหน้าที่ช่วยดูแลและสนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสร้างอาคารเรียนหลักและอาคารเรียนประกอบ ตลอดจนให้เงินเพิ่มค่าอาหารกลางวัน, แจกเครื่องแบบนักเรียน, มอบอุปกรณ์การเรียนการสอน, จ้างครูพิเศษเพิ่ม ทั้งครูสอนภาษาอังกฤษ และนาฏศิลป์ รวมถึงมีโครงการอุปการะเกื้อหนุนการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผู้บริหารและครูผู้สอน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 20 โครงการในแต่ละปี พร้อมมอบเงิน 200,000 บาท ให้แต่ละโรงเรียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษา และนำดอกผลมาใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง
...
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่อง “ผอ.กำพล วัชรพล” อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ในโอกาสครบ 100 ปีชาตกาล นับเป็นคนไทยลำดับ 28 ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก...นี่คือสุดยอดความภาคภูมิใจของชาวไทยรัฐ
ถึงวันนี้นับเป็นรุ่นที่สามของไทยรัฐแล้ว ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการบ่มเพาะและเรียนรู้ประสบการณ์ จาก “ผอ.กำพล วัชรพล” ส่งต่อมายังรุ่นลูก นำโดย “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” และ “สราวุธ วัชรพล” จนมาถึงการสานต่อของรุ่นหลาน ภายใต้การขับเคลื่อนของ “วัชร วัชรพล”, “จิตสุภา วัชรพล” และ “ธนวลัย วัชรพล” ที่เข้ามาร่วมกันบริหารไทยรัฐกรุ๊ปให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะสื่อชั้นนำของประเทศ ที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และปรับตัวไม่หยุดเพื่อขานรับกับโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เด็กไทย
...
หนึ่งในหัวหอกสำคัญของทายาทรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบสานพันธกิจ “จิตสุภา วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ในฐานะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ชี้ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ความพร้อม และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ที่ทำให้เขาได้เล่าเรียนในโรงเรียนตามที่ควรจะเป็น ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาสังคม และแนวทางแก้ไข เรามักจะพบว่า หลายๆเรื่องล้วนแก้ได้ด้วยการจัดการระบบการศึกษาที่ดี
...
มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ที่ทุกวันนี้เรายังต้องพูดคำนี้กันอยู่เลย ฉะนั้น “มูลนิธิไทยรัฐ” ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุด เท่าที่เราจะมีพละกำลัง ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษา ดังนั้นหากจะปฏิรูปการศึกษาจะต้องปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นสพ.ไทยรัฐ โดย “ผอ.กำพล วัชรพล” จัดสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรก เมื่อปี 2513 เป็นความตั้งใจที่จะทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เพราะชีวิตจริงของคนในต่างจังหวัด คือ จนทรัพย์ จนใจ จนปัญญา คนไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร เพราะเขาไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าวมื้อถัดไป มูลนิธิไทยรัฐจึงจัดทุนการศึกษา และให้งบอาหารกลางวัน บางโรงเรียนมีการสร้างหอให้เด็กพักในละแวกนั้น บางโรงเรียนมีรถรับส่ง และบางโรงเรียนมีครูเดินทางไปรับนักเรียน ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาจะยกระดับ และเปลี่ยนชีวิตคนได้
ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่จำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษา ด้วยการสร้างคนและให้คนมาสร้างประเทศ...สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสร้างอนาคตของเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างวิทยาทานกับไทยรัฐกรุ๊ป สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือบัญชีเงินฝาก มูลนิธิไทยรัฐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวิภาวดีรังสิต กระแสรายวัน เลขที่ 196–3–061591.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่