เคยรู้สึกไหมว่าทำไมบางคนดื่มกาแฟแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงไปตลอดวัน แต่สำหรับบางคนไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งดื่มกาแฟเสร็จยิ่งง่วงนอน สาเหตุนี้มาจากอะไรกันแน่
คาเฟอีน จัดเป็นสารอัลคาลอยด์กลุ่มหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และก่อโทษ โดยสามารถพบได้ในธรรมชาติ ที่มักนำมาประกอบอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มหลายๆ ชนิด
เมื่อคนเราได้รับคาเฟอีนไปแล้วส่วนใหญ่จะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มกาแฟ ที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมจากคนทั่วโลกเป็นต้น
แน่นอนว่าอาจมีคนที่ดื่มกาแฟแล้วยังไม่รู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่า ยังมีความรู้สึกถึงอาการง่วงนอนและอ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายต่อคาเฟอีนที่ได้รับไม่เหมือนกัน
โดยสาเหตุหลักๆ ที่ดื่มกาแฟแล้วยังง่วงอยู่มาจากการที่คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เมื่อดื่มแล้วอาจจะทำให้เกิดการเข้าห้องน้ำบ่อยมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำจึงอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยเพลียได้ รวมถึงตัวคาเฟอีนเองยังสามารถก่อสารซีโรโทนิน ที่มีผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดการผ่อนคลายมากขึ้น สิ่งนี้อาจทำให้ตัวเราเองง่วงนอนได้
รวมถึงการดื่มกาแฟเป็นประจำในทุกๆ วัน ยังส่งผลให้ร่างกายปรับตัวตามการรับปริมาณคาเฟอีนได้มากขึ้น จึงทำให้การดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้ว อาจจะไม่สามารถส่งผลต่อความตื่นตัวได้เท่าที่ควร โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า “อาการดื้อคาเฟอีน”
ทั้งหมดยังไม่รวมถึงผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ การหมุนเวียนของเลือดไม่คงที่ การหลับนอนที่ไม่เพียงพอ การรับคาเฟอีนเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว อาการเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และอยากจะพักผ่อนเพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่สามารถเกิดขึ้นได้
...
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ น้ำตาลในเครื่องดื่มตามสูตรกาแฟบางชนิดที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ระบบการเผาผลาญก็จะทำงานในการดูดซึมเอาน้ำตาลไปใช้ และทำให้เรารู้สึกง่วงนอนได้
นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องของคาเฟอีนในเมล็ดพันธุ์กาแฟ การคั่ว การบ่มต่างๆ มีส่วนทั้งหมดต่อรสชาติและระดับคาเฟอีน คนที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าเมล็ดกาแฟแบบคั่วเข้มจะมีคาเฟอีนที่สูง และกาแฟแบบคั่วอ่อนจะมีระดับคาเฟอีนที่ต่ำลงซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะเมล็ดกาแฟคั่วอ่อนจะมีระดับคาเฟอีนที่สูงกว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้ม เนื่องจากการคั่วยิ่งอ่อนยิ่งส่งผลต่อสารคาเฟอีนที่คงไว้เยอะกว่านั่นเอง ซึ่งถ้าหากผู้ดื่มอยากได้ความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าต้องดื่มกาแฟในระดับคั่วอ่อน และถ้าหากอยากลดระดับคาเฟอีนควรที่จะเลือกดื่มกาแฟคั่วเข้มเป็นต้น
สรุปได้ว่าการตื่นตัวจากการดื่มกาแฟ ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล การเลือกสรรกาแฟที่ใช่และชื่นชอบ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มอย่างเหมาะสมต่อตนเองเพื่อให้ระดับคาเฟอีนที่ได้รับเข้ามาก่อประโยชน์ในร่างกายอย่างเหมาะสมมากที่สุด
ภาพ : istock