เมื่อน้องหมาอายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมลงทำให้โรคภัยถามหาไม่ต่างจากเรา หนึ่งในโรคของน้องหมาสูงวัยที่เหล่าทาสต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษคือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งพบได้มากถึง 75% ของน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเลยทีเดียว
ข้อมูลจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วในสุนัข (Mitral Valve Regurgitation) หรือโรคลิ้นหัวใจไมตรัลเสื่อมในสุนัข (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคหัวใจในสุนัขที่พบได้มากที่สุดราว 70 – 80% ส่วนใหญ่พบในสุนัขที่มีอายุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขพันธุ์ขนาดเล็กและกลาง ซึ่งรักษาโดยการใช้ยาเป็นหลัก
รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลอง จุฬาฯ เผยว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขจะพบเพิ่มขึ้นตามอายุของสุนัขที่มากขึ้น โรคนี้แบ่งออกเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ และระยะที่แสดงอาการแล้ว สุนัขที่ป่วยจะมีอาการดังนี้
- เหนื่อยง่าย
- ไอ
- หอบ
- น้ำท่วมปอด
- หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
สุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วในระยะรุนแรงจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายขึ้นไปหัวใจห้องบนซ้าย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะเลือดไหลย้อนกลับไปที่ปอด ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้
...
ปัจจุบันมีการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วยการผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อีก 6 ท่านจากโรงพยาบาลสัตว์เอกชน ร่วมกันผ่าตัดสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2567 โดยวิธีการดังกล่าวจะมีแผลขนาดเล็กและไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้สุนัขฟื้นตัวเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้หัวใจสุนัขจะปรับสภาพใหม่และช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต การรักษาวิธีนี้มีการทำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มจากการนำมาใช้ผ่าตัดในคนและใช้ในสัตว์ในเวลาต่อมา โดยในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันก่อนที่สุนัขหรือน้องหมาแสนรักของเราจะป่วย ด้วยการมาตรวจสุขภาพประจำปี โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์เผยว่าสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่
- คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล
- ชิวาวา
- ปอมเมอเรเนียน
- บีเกิล
- พุดเดิ้ล
- ดัชชุน
- มอลทีส
- บอสตัน
- เทอร์เรีย
- โกลเด้น รีทรีฟเวอร์
- โดเบอร์แมน
- ค็อกเกอร์ สแปเนียล
แม้โรคหัวใจในสุนัขจะเป็นโรคที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง แต่หากตรวจพบได้เร็ว และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็จะสามารถชะลอความรุนแรงของโรค ทำให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น
นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว สุนัขสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยง หรือสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 7 – 8 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจสุขภาพหัวใจ (Heart Check Up) ร่วมด้วยโดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ โดยสัตวแพทย์จะวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน ทั้งการฟังเสียงหัวใจ และการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยและครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงเครื่อง 3D Echocardiogram สำหรับการตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจแบบ 3 มิติที่จะช่วยให้เห็นภาพโครงสร้างหัวใจได้อย่างชัดเจน เพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยและยังใช้ในการพิจารณาเคสที่สามารถรักษาด้วยแนวทางอื่นนอกจากการใช้ยาได้ โดยเจ้าของสามารถทราบผลการตรวจสุขภาพหัวใจได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง
สพ.ญ.ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ เผยว่าการตรวจเจอโรคได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา เพียงดูแลควบคุมไลฟ์สไตล์และสิ่งแวดล้อม ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ด้วยการดูแลเรื่องอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ หรือหากตรวจเจอในระยะที่ต้องรักษาด้วยยาแล้ว การดูแลไลฟ์สไตล์และสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตก็สามารถช่วยลดการใช้ยาได้
...
นอกจากนี้ โรคหัวใจบางประเภทยังมีทางเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งไม่เพียงมีแนวโน้มที่จะทำให้สุนัขหายจากโรคหัวใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายหรืออาจช่วยจบวงจรค่าใช้จ่ายยารักษาที่เจ้าของต้องจ่ายในทุกเดือนได้ด้วย