ไทยรัฐกรุ๊ป ผนึกกำลังพันธมิตรร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน "เมรัยไทยแลนด์" มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก พร้อมกับยกระดับเครื่องดื่มสุดประณีตจากชุมชน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย
นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึงการจัดงานเมรัยไทยแลนด์ว่า งานนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาไทยหรือความรู้ไทยท้องถิ่น กอปรกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตเหล้าหรือเบียร์
“เราอยากส่งเสริมคนตัวเล็กๆ ให้มีโอกาส มีเวทีที่นำพาสินค้าของพวกเขาออกมาแสดงให้ทุกๆ คนได้เห็น”
...
วัชร กล่าวต่อไปว่า งานเมรัยไทยแลนด์เป็นงานที่อยากช่วยส่งเสริมผลักดันให้สุราไทยและงานคราฟต์เบียร์ไทยไปไกลระดับอินเตอร์ ด้วยความเชื่อที่ว่าเครื่องดื่มของไทยมีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองสูงมาก
วัชร วัชรพล กล่าวปิดท้ายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ว่า ต้องการยกระดับและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับผู้ผลิตหรือผู้ขายซึ่งส่วนใหญ่เป็นรากหญ้า เป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ได้ขึ้นมาต่อสู้ในเวทีใหญ่ ก็นับเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง
“เจตนาของการจัดงานนี้ไม่ได้ชวนกันมาเมา หรือมอมเมา แต่เราอยากส่งเสริมส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เราอยากส่งเสริมตรงจุดนั้น และช่วยเหลือผู้ประกอบการ”
ทางด้านนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงงานเมรัยไทยแลนด์ว่า การดื่มสุราหรือการร่ำสุรา ไม่ใช่เรื่องของเหล้า 1 ขวด หรือเหล้า 1 ไห แต่เป็นวัฒนธรรม และเป็นวัฒนธรรมที่อยู่มานานมากเป็นพันปี อยู่กับมนุษย์แล้วก็ทำให้มนุษย์มองสุราเหมือนเพื่อน สุราเหมือนเครื่องที่ทำให้บันเทิงใจ รวมถึงเป็นเครื่องบำรุงจิตใจ
“ถ้าเราตีความแบบนี้ สุรามันไม่ใช่เป็นเรื่องบอกว่าดื่มสุราแล้วเป็นผลต่อสุขภาพอย่างเดียว แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ผมในฐานะที่เป็นแพทย์ก็ต้องบอกว่าการร่ำสุรา ดื่มเมรัย ต้องมีความพอดี”
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สุราคือวัฒนธรรมและวัฒนธรรมหลายที่ตกทอดกันมา ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นบรรพบุรุษ แล้วสุราก็เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมาในแต่ละชุมชนแต่ละอารยธรรมแตกต่างกันไป
รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไรให้สุราถูกปลดปล่อยออกมาให้เกิดเสรีภาพในการที่จะนำเสนอความคิดสร้างสรรค์
“ตอนนั้นก็จะมีสุราชุมชน มีไวน์ผลไม้ มีอีกหลายเรื่องเลยที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แล้วก็ยอมรับว่าในขณะนั้นเนี่ยมันเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้วก็เพิ่งเกิดความตื่นตัวกันอย่างกว้างขวาง ปัญหาที่ตามมาอาจจะมีหลายส่วนปัญหาทางกฎหมายก็คือส่วนหนึ่ง ปัญหาของเรื่องคุณภาพ เรื่องการใช้องค์ความรู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง”
...
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ไม่ได้มีการพัฒนาส่งเสริมกันจริงๆ จังก็นำมาสู่การที่ให้สุราชุมชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้เติบโตก้าวหน้าให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของโลก
“มาวันนี้ผมคิดว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสม เรามีคนที่มีองค์ความรู้ คนที่มีความฝันใฝ่อยากจะพัฒนาสุราเมรัยให้กลายเป็นเครื่องมือในการที่ทำให้ตัวเองทำตามความฝันได้ เราเห็นองค์ประกอบจากพืชผลการเกษตรหลายๆ อย่างที่เป็นพืชผลของไทย เช่นข้าวหอมมะลิก็เอามาปรุงแล้วสามารถที่จะแข่งกับข้าวมอลต์ในต่างประเทศ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถ้าหากมีการส่งเสริมกันอย่างจริงจังทำให้เราพัฒนาความรู้มีระบบนิเวศ มีแพกเกจจิง มีการตลาด มีการขายที่มีประสิทธิภาพโอกาสในการที่ทำให้เรื่องของเมรัยไทยแลนด์จะพัฒนาต่อไป”
นอกจากนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สิ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนหลังจากนี้คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร โดยมองว่าสุราเป็นวิถีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน ด้วยการแพริ่งเครื่องดื่มกับอาหารท้องถิ่น
...
“ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราจะทำให้เติบโตคือว่ามันจะต้องมีการส่งความคิดสร้างสรรค์ มีการฝึกอบรมในแง่ของการพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจัง มีการพัฒนาในแง่ของการส่งเสริมให้การผลิตที่มีคุณภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนก็ต้องนำไปสู่การแก้ไขร่างกฎหมายสุราชุมชน แล้วก็พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เราสามารถจะทำความพอดีในเรื่องนี้ให้กลายเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดรายได้สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้”
สำหรับงานเมรัยไทยแลนด์จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2567 ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ห้างสรรพสินค้า Emsphere กรุงเทพมหานคร