ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสุราชุมชน เมื่อ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐและเอกชน จัดงานอีเวนต์ใหญ่ “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก ยกระดับความคราฟต์ของชุมชน ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2567 ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์

นอกจากจะรวบรวมผู้ผลิตสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์กว่า 50 รายจากทั่วประเทศ พร้อมเปิดเวทีเชิดชูอัตลักษณ์การหมักและการกลั่นแอลกอฮอล์พื้นบ้าน งานนี้ยังยกระดับเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรายย่อยเข้ากับตลาดระดับบน ผ่านกิจกรรมไฮไลต์สำคัญอย่าง “Chef’s Table แกล้มเมรัย” โดยเชื้อเชิญสุดยอดเชฟมิชลินสตาร์ 4 ภาคของไทย มาปรุงเมนูสร้างสรรค์ จับคู่กับเครื่องดื่มท้องถิ่นสุดคราฟต์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการผสานวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มแบบร่วมสมัย

นำทัพโดย “ลุงไข่-อมฤต ศรีแสง” และ “เชฟปู” แห่งร้าน “บ้านสวนลุงไข่” เพชรเม็ดงามจากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าของรางวัล “MICHELIN Guide Bib Gourmand ประจำปี 2567” เริ่มต้นจากการเป็นเชฟเทเบิลพื้นบ้าน ที่เน้นความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบจากท้องทะเล “บ้านสวนลุงไข่” ได้พัฒนาจนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักชิมจากทั่วสารทิศต้องมาเยือน เพื่อสัมผัสรสชาติอาหารทะเลสดใหม่ที่ปรุงด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมสืบทอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสานเทคนิคสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์

...

“เรามีเป้าหมายว่าคนที่มาทานอาหารร้านเราจะมีความสุขกลับไป แล้วเราก็จะมีความสุขด้วย”...“ลุงไข่” เล่าถึงปรัชญาการทำอาหารเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งสะท้อนหัวใจรักบริการ

เฉพาะสำหรับงานเมรัยไทยแลนด์ “ลุงไข่” เตรียมเมนูเด็ดไว้ให้ชิมทั้ง “ยำปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” ปลาน้ำจืดหายากจากแม่น้ำตาปี ที่ไหลผ่านจากต้นน้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราชลงมาสู่สุราษฎร์ธานี เสริมทัพด้วย “กรรเชียงปูซอสกะทิ”, “เนื้อคั่วพริกแกงใต้กับข้าวมันมะพร้าว”, “ปลาเหล็ก โคนทอด”, “ซุปหอยตลับน้ำมะพร้าว” และ “จั้งน้ำผึ้งโตนด” โดยเสิร์ฟคู่กับ “คราฟต์ เบียร์สุดสยามจากยะลา”

“กินเหล้ามันก็ต้องกินลาบครับ มันอยู่ด้วยกัน”...นี่คือประโยคชวนร่ำเมรัยของ “เชฟก้อง-ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร” ท่ามกลางผืนป่าเงียบสงบของจังหวัดเชียงราย มีร้านอาหารเล็กๆซ่อนตัวอยู่ สร้างชื่อในนาม “Locus Native Food Lab” แม้จะเสิร์ฟอาหารสไตล์ล้านนา แต่ตัวแทนเชฟภาคเหนือกลับมีพื้นฐานมาทางอาหารฝรั่งเศส สร้างเอกลักษณ์แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ด้วยการผสมผสานสิ่งที่ดูขัดแย้งกันเพื่อสร้างความน่าสนใจอย่างประหลาด นอกจากจะมีแพชชันเรื่องอาหารเปี่ยมล้นแล้ว “เชฟก้อง” ยังมองอาหารแต่ละจานเป็นเสมือนการสร้างผลงานศิลปะ

ชื่อร้าน “Locus” ออกเสียงว่า “โลกุษ” หมายถึงความสัมพันธ์กับพื้นที่ เมื่อได้พูดคุยกับเชฟคนดัง ต้องประหลาดใจซ้ำสองกับพื้นเพของเชฟที่ไม่ใช่คนเชียงราย หากเป็นหนุ่มชาวกรุงแท้ๆ ที่ตัดสินใจย้ายถิ่นตามภรรยามาอยู่เมืองเหนือ ด้วยหลงใหลในความสงบสุขของเชียงราย...“จริงๆแล้วผมเป็นซิตี้บอยนะ เกิดที่เยาวราช กรุงเทพฯ รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าชอบความเงียบ ไม่ชอบคนเยอะ ผมอยากจะอยู่ในที่ที่ผมคิดได้ ซึ่งภรรยาผมเป็นคนเชียงราย เราอยู่ที่นี่มานานจนกลายเป็นคนเชียงรายไปแล้ว”

“เชฟก้อง” เปลี่ยนร้านอาหารธรรมดาๆให้เป็นห้องทดลอง ที่พร้อมสนุกกับการผสมเทคนิคการทำอาหารแบบฝรั่งเศสเข้ากับวัตถุดิบท้องถิ่นและรสชาติล้านนาดั้งเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออาหารสุดสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ เขาตั้งใจหยิบจับวัตถุดิบในพื้นที่มาเนรมิตเป็นอาหารสไตล์ล้านนา เพื่อสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ไปพร้อมกับสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตในพื้นที่ โดยเชฟมักออกเยี่ยมฟาร์มและแหล่งผลิตเป็นประจำ เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตและคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีที่สุดมาเสิร์ฟลูกค้า

...

สำหรับเมนูสุดพิเศษที่ “เชฟก้อง” สร้างสรรค์เพื่องานเมรัยไทยแลนด์ มี อาทิ “ลาบควายมะแขว่นดอง-ลาบปลาบ่าลิดไม้-ลาบคั่ว”, “ข้าวนึ่งหมูย่างน้ำ พริก”, “ยำจิ้นไก่”, “พาสต้าไส้อั่วจิ้นตุ๋น” และ “ขนมดอกตะแบก” เสิร์ฟพร้อม “อัสดง” แบรนด์สุราเก่าแก่จากเมืองน่าน

“ถ้าพูดถึงคำว่าแซ่บกับคนกรุงเทพฯ จะนึกถึงรสเปรี้ยว รสเผ็ด แต่คนอีสานพูดว่าแซ่บ เขาแปลว่าอร่อยครับ”...“เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์” และ “เชฟจิ๊บ-กัญญารัตน์ ถนอมแสง” เพื่อนซี้แห่ง “ร้านแก่น” จังหวัดขอนแก่น บอกเล่าถึงความต่างทางวัฒนธรรมอาหาร ทั้งคู่เคยร่วมงานกันในฐานะเชฟโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง ก่อนตัดสินใจออกมาเปิดร้านอาหารร่วมกัน เพื่อนำเสนออาหารอีสานในมุมมองใหม่ ที่ทั้งทันสมัยและยังคงรักษาแก่นแท้ของรสชาติดั้งเดิม โดยผสานเทคนิคการทำอาหารระดับสูงเข้ากับรสชาติพื้นถิ่นได้อย่างลงตัว

...

การที่ “ร้านแก่น” ได้รับการยอมรับจากมิชลินไกด์ เป็นเครื่องการันตีว่าอาหารอีสานสามารถยกระดับสู่ความเป็นไฟน์ไดนิ่งได้ โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิม ทุกจานอาหารที่เสิร์ฟล้วนผ่านการคิดค้นและพัฒนาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้แต่ละคำสื่อถึงรสชาติที่คุ้นเคยในแบบฉบับใหม่ โดยมีวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นตัวชูโรงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่ “เกลือบ่อกฐิน” จากหลายจังหวัดในภาคอีสานไปจนถึงปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำจากแก่งละว้า

...

งานนี้แฟนอาหารอีสานไฟน์ไดนิ่งจะได้ฟินกับเมนู “พาตำ” ตำลาวสาวขอนแก่น ตำมันแกวจากบรบือ นัวปลาร้าจากแก่งละว้า และปลาหมึกหอมย่าง, “พาอิ่ม” แป๊ะซะกุ้งกาฬสินธุ์ย่าง, “พาซด” จุ่มปลาซาชิมิประมง พื้นบ้าน ซุปคอลลาเจนกระดูกไก่ และ “พาอิ๊มอิ่ม” อ่อมเนื้อน่องลายจากนาดูน เสิร์ฟคู่ “เหล้าออนซอน” จากสกลนคร หนึ่งในสุราพื้นบ้านคุณภาพของอีสาน

อีกยอดขุนพลที่จะมาร่วมสร้างสีสันในงานนี้คือ “เชฟปริญญ์ ผลสุข” ผู้ก่อตั้งร้าน “สำรับสำหรับไทย” ตัวแทนจากภาคกลาง สร้างชื่อจากเอกลักษณ์ของรสชาติอาหาร และความคิดสร้างสรรค์ในการเนรมิตเมนูแปลกใหม่ให้เซอร์ไพรส์ โดยพลิกแพลงจากวัตถุดิบที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล โดยมีรางวัล 1 ดาวมิชลิน จากคู่มือมิชลินไกด์ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 การันตีฝีมือ

“เชฟปริญญ์” ไม่เพียงหลงใหลในตำรับอาหารไทยโบราณแต่เชี่ยวชาญในวิถีสุราไทยและวัฒนธรรมการร่ำเมรัย โดยถือคติว่า “แค่อาหารที่ดี สุราที่ชอบ ก็มีความสุขแล้ว”

การทำอาหารของ “เชฟปริญญ์” ไม่ได้จำกัดแค่ความอร่อย แต่ยังมุ่งถ่ายทอดวัฒนธรรมการกินของไทยผ่านทุกจานอาหาร โดยรื้อฟื้นตำรับโบราณหาทานยาก พร้อมตีความใหม่จากวัตถุดิบคุ้นเคย งานนี้ เขาตั้งใจมาร่วมสร้างสรรค์เมนูสุดพิเศษให้เซอร์ไพรส์ อาทิ “พล่าปากน้ำปลามง”, “จุ๊บผักแจ่วด้านกับหมูลอยทอด”, “ทอดมันไก่ไส้กุ้ง” และ “แกงป่าเนื้อ” โดยจับคู่กับ “สาโทเทพนม” จากนนทบุรี เพื่อยกระดับอาหารไทยและสุราพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นับเป็นการสร้างมิติใหม่ให้วงการอาหารและสุราชุมชนของไทยที่น่าจับตามอง ใครอยากพิสูจน์ความจัดจ้านในฝีมือของสุดยอดเชฟมิชลินสตาร์ทั้ง 4 ภาค ห้ามพลาด “งานเมรัยไทยแลนด์” ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2567 ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ จองที่นั่งล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ ในราคา 3,299 บาท ผ่านช่องทาง https://www.zipeventapp.com/e/MERAITHAILAND  หรือสแกนคิวอาร์โค้ด.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ