โรคซึมเศร้าและความเครียดในวัยเรียนที่ปัจจุบันเกิดขึ้นถึงร้อยละ 5-10 เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยและสังคมโลก สิ่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม หากรู้ก่อน รักษาเร็ว สามารถป้องกันและหายได้ก่อน
จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 5-10 ของกลุ่มโรควิตกกังวลและซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด มักจะพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเป็นความเครียดที่เข้าสู่ระดับกลางถึงรุนแรง นี่อาจกลายเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ปกครองพ่อแม่ทุกคน เพราะระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก
โรคซึมเศร้าและความเครียด ควรสังเกตจากพฤติกรรมเป็นสำคัญ เพราะสิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนที่ผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เช่น ชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ผลการเรียนตก เหม่อลอย ไม่อยากทานอาหาร มีปัญหาเรื่องการนอน และยิ่งอันตรายหากมีการบอกลา การสั่งเสีย การที่บอกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว สัญญาณเหล่านี้จะเป็นตัวที่บอกได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้อาจจะมีความเสี่ยงในการพยายามฆ่าตัวตาย
ปัจจัยเสี่ยงของความเครียดและโรคซึมเศร้าในวัยเรียน
- ความกดดันทางการเรียน: การพยายามให้ได้คะแนนดีหรือรักษาความสำเร็จรวมถึงความคาดหวังของผู้ปกครองอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม
- การถูกเปรียบเทียบกับเพื่อน: ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าและหมดกำลังใจ
- ปัญหาครอบครัว: การหย่าร้างหรือความขัดแย้ง ทำให้เด็กขาดความมั่นคงทางจิตใจ
- การใช้โซเชียลมีเดีย: เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ไม่สามารถผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง วัยเรียนที่มีภาวะซึมเศร้า หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการมักจะไม่ดีขึ้นเอง ปล่อยไว้นานอาการจะแย่ลง ดังนั้นการรักษาจึงต้องเป็นการวางแผนในระยะยาว เพื่อแก้ไขอาการของโรคและสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้
...
- พบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาอย่างเป็นระบบ หากจำเป็นต้องใช้ยาควรใช้ เพื่อผลการรักษาที่ดี
- รับการบำบัดทางจิตวิทยาร่วมด้วย เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
- ผู้ปกครองต้องให้กำลังใจ เปิดใจพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ฟังความคิดเห็น ความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่ตัดสิน และเข้าร่วมกระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ปรับสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนให้เอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจ
- สร้างเครือข่ายสนับสนุนระหว่างครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
ผลกระทบของภาวะซึมเศร้านั้น นอกเหนือจากการกระทบต่อการเรียน อาจจะกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว ทักษะการเข้าสังคมและผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว โรคซึมเศร้าและความเครียดในวัยเรียนไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างอนาคตที่ดีของพวกเขา
ดังนั้นการสังเกตและให้การช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ จะช่วยเปลี่ยนชีวิตและป้องกันปัญหาระยะยาวของวัยเรียนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต การได้รับการรักษาและความช่วยเหลือที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมสามารถช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้